ส.ว. ประกาศไม่โหวตให้ ‘พิธา’ ลั่นรวมเสียงไม่ถึง 376 อย่าหวัง แนะดูด้วย ส.ว. ชุดนี้มีที่มาอย่างไร
แม้ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะประกาศจัดตั้งรัฐบาลผสม 5 พรรคโดยดึงฝ่ายค้านเดิมที่ร่มทำงานมาเป็นรัฐบาลด้วยกัน รวมได้ 309 เสียง ขณะที่พรรคเพื่อไทยยินดีเข้าร่วมด้วย แต่อุปสรรคสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลและการเป็นนายกฯของพิธา คือ ความไม่แน่นอนว่า จะได้เสียงสนับสนุนจากที่ประชุมรัฐสภาให้ได้ 376 เสียง จาก 750 เสียงหรือไม่
ขณะที่พิธา ประกาศชัดว่า จะไม่ดึงพรรครัฐบาลปัจจุบันโดยเฉพาะภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาลเพื่อให้ได้เสียงเกิน 376 เสียงเพื่อปิดสวิทช.สว. แต่ สว.ต้องโหวตสนับสนุนให้เขาเป็นนายกฯตามคะแนนเสียงที่ชนะเลือกตั้ง ขณะที่ สว.ล่าสุดออกมายืนยันว่า จะไม่โหวตให้พิธา หรืออย่างมากก็อาจงดออกเสียง
ล่าสุด นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมร่วมรัฐสภา หลังพรรคก้าวไกลได้เสียงมาเป็นอันดับหนึ่งและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีว่า สำหรับตนเองได้กล่าวคำปฏิญาณตนตอนเข้ารับหน้าที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ที่มาตรา 6 ไว้ว่า เราต้องมีหน้าที่รักษาระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ และมาตรา 50(1)ก็บัญญัติไว้ว่าหน้าที่ของปวงชนชาวไทยคือต้อง
พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพรรคก้าวและนายพิธาได้เคยประกาศในการที่จะเลิกมาตรา 112 ซึ่งกระทบกระเทือนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะด้อยค่าสถาบันฯ ที่เรารับไม่ได้
ด้วยเหตุผลที่กล่าวข้างต้น สำหรับผม ก็คือไม่เห็นชอบ ซึ่งแม้เขาจะรวมเสียงส.ส.มาได้เท่าไหร่ก็ตาม จะเป็น 309 เสียงของสภาฯ อย่างที่แถลงไว้หรือจะไปถึง 376 เสียงก็แล้วแต่ ที่หากได้ถึง 376 ก็ไม่ต้องมาพึ่งสว. แต่หากได้มาสัก 309 เสียง ก็ยังต้องถามสว. ซึ่งส่วนตัวผม ถ้าเสนอชื่อมาเป็นนายพิธา ผมไม่รับ จะลงมติไม่เห็นชอบเพราะผมจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและคำปฏิญาณ นายจเด็จกล่าว
เมื่อถามว่าหากหัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่าจะไม่เอาเรื่องแก้ 112 มาเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา นายจเด็จกล่าวว่า ถ้าแบบนั้นค่อยว่ากันอีกที ดูว่าเขาจะพูดแบบไหน แต่ว่าเขาพูดไปแล้ว เขาจะกลืนคำพูดได้หรือ เขาจะกลับกลอกถึงขนาดนั้นหรือ ถ้าจะมาบอกว่าไม่ได้ยกเลิก แต่จะมาปฏิรูป ผมมองว่าพรรคก้าวไกลมีความสับสนคำว่าปฏิรูปกับคำว่าล้มล้างอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ใช้คำว่าเลิก บางทีก็บอกปฏิรูป แล้วผมถามว่าจะปฏิรูปอะไร สถาบันฯไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณเลย คุณจะมาแก้112 จะมาลดโทษกฎหมาย ถามว่าทำเพราะอะไร หากนายพิธา จะมาให้เหตุผลใหม่เรื่อง 112 ผมก็ต้องฟังอีกที ว่าเขาให้เหตุผลอย่างไร แต่ถ้ายังเหมือนเดิม ผมก็จะลงมติไม่เห็นชอบเพราะผมกล่าวคำปฏิญาณไปแล้ว หน้าที่ของผมคือต้องดูแลชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และธำรงไว้ซึ่งการปกครองอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.ให้สัมภาษว่า เมื่อถึงขั้นตอนการเลือกนายกฯตามมาตรา 272 ส.ว.จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯคือจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น จงรักภักดีต่อชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์เป็นหลัก ถ้าใครมีคุณสมบัติตรงนี้ส.ว.จะพิจารณา ซึ่งส.ว.ทุกคนมีคุณวุฒิวัยวุฒิที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองแต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลหรือองค์กรอิสระต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติทุกคนทุกองค์กร และทิศทางของการโหวตส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาเกือบจะเอกฉันท์แน่นอนอาจมีบางส่วนเห็นต่างงดออกเสียงหรือโดดไปฝ่ายตรงข้ามก็เคยมีเช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีทั้งส.ว.เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
นายกิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยและขั้วฝ่ายค้านเดิมก็ขอให้รอถึงวันนั้นจึงจะพูดได้ เพราะพูดไปก่อนยังไม่ถึงเวลาไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่เหมาะสม แล้วก็เป็นไปได้หมดถ้าเกิดเลือกรอบแรกแล้วไม่ผ่าน เช่นคุณสมบัติไม่ผ่านก็อาจมีการงดออกเสียง พร้อมยกตังอย่างว่ากกต. กำลังพิจารณาเรื่องร้องเรียนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งต้องรอดูผลเป็นองค์ประกอบ และดูหลายๆ ปัจจัย
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ส.ว.ไม่มีธง แต่เรามองไปไกลว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เลือกใครมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นการชักศึกเข้าบ้านมีความขัดแย้ง หรือทำให้มีการเดินลงถนนอีกหรือไม่ ต้องมองหลายมิติ จึงขอให้ถึงเวลานั้นก่อนแล้วส.ว.จะตัดสินใจเพื่อบ้านเพื่อเมือง
ต่อมานายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. กล่าวว่า พรรคที่จะเป็นรัฐบาลต้องไปหาเสียงให้ได้ 376เสียงเองก่อน อย่ามาหวังพึ่งเสียง ส.ว. โดยจะไปเอาพรรคภูมิใจไทย มาร่วมก็ได้แล้ว เพื่อ ส.ว. จะได้ปิดสวิตซ์ ส.ว. ไปเลย เพราะถ้า ส.ว.งดออกเสียง จะทำให้เสียงไม่ถึง 376 อยู่แล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัจจัยของ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องเสียงที่ได้รับจากประชาชนหรือเสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะต้องดูว่าใครตั้ง ส.ว.ชุดนี้ และมีที่มาอย่างไร
ส.ว. มีเสียงแบ่งเป็นกลุ่มๆ มีส.ว.อิสระ ไม่ถึง 20 คน เวลาลงมติจริงก็ไม่รู้จะอิสระหรือไม่ เช่นยกตัวอย่างที่มีข้อเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. มี 23 ส.ว. เห็นด้วย แต่กลุ่มนี้อาจงดออกเสียงในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และจะเอา ส.ว.23 คนมาบอกว่าโหวตตามเสียงข้างมากไม่ได้ ดังนั้นเขาต้องรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง ไม่เช่นนั้นก็ผ่านไม่ได้ และถ้ารัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไม่ได้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องไปหาพรรคอื่นมารวมให้ได้ 376 เสียงเพื่อเลือกครั้งที่ 2 อีกครั้ง ซึ่งส.ว.ทุกคนมีอิสระ นายเฉลิมชัย กล่าว นายเฉลิมชัย กล่าวยืนยันว่า ส่วนตัวมีจุดยืนชัดเจนว่า ฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250เสียง จะโหวตให้ฝ่ายนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็พร้อมโหวตให้ แต่กับส.ว.คนอื่นๆ ไม่กล้าการันตีจะคิดแบบเดียวกันหรือไม่