'ก้าวไกล' หารือฟอร์มรัฐบาลวันนี้ 'พิจารณ์' เผยพยายามโน้มน้าว ส.ว.ให้โหวต 'พิธา' เป็นนายกฯ ลั่น ปชป.-ภท. ช่วยโหวต ให้เคารพเสียงประชาชน
วันที่ 16 พ.ค. 2566 ที่พรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.เยอะมากในพื้นที่ กทม. ว่า ต้องขอบคุณคะแนนเสียงจากประชาชน เมื่อเทียบกับปี 2562 เก้าอี้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมาประมาณเท่าตัว และในหลายเขตชนะขาด อย่างไรก็ดีคณะทำงานของ กทม. พรรคก้าวไกล กำลังหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะเสนอขอให้รวมคะแนนใหม่ เนื่องจากพบว่าคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ 20 ซึ่ง กกต. ได้ประกาศ ไม่ตรงกับผลคะแนนที่พรรคได้รวบรวม วันนี้จะทบทวนเป็นครั้งสุดท้าย ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และดำเนินเสนอ กกต.ให้รวมคะแนนใหม่
นายพิจารณ์ กล่าวถึงสำหรับปัจจัยที่ทำให้กระแสก้าวไกลกวาดที่นั่งได้ทั่ว กทม. ว่า ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลตั้งเป้าไว้ที่ 15 เขต ก่อน กกต. แบ่งเขตใหม่ จึงเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบอยู่บ้าง แต่ก็ยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามเมื่อประชาชนให้ความสนใจ ครั้งนี้จะพิสูจน์และทำให้เห็นว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะนายกฯที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 70 ปีจะบริหารประเทศ และสร้างผลงานมาแทนคำขอบคุณ
นายพิจารณ์ กล่าวถึงแนวทางของพรรคว่า หากมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อคนใด ได้รับตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ส.ส.คนดังกล่าวควรจะลาออกเพื่อขยับลำดับบัญชีรายชื่อขึ้นมา แต่สำหรับบุคลากรที่เป็นแกนนำสำคัญ เช่น หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย เลขาธิการพรรค อาจจะจำเป็นต้องดำรงตำแหน่ง ส.ส.ต่อไป สำหรับการหารือจัดตั้งรัฐบาลนั้น นายพิจารณ์ กล่าวว่า วันนี้จะเริ่มมีการพูดคุยกันกับแต่ละพรรคถึงแนวทางในรายละเอียด หลังจากการแถลงข่าวของนายพิธา เมื่อวานนี้ ภายในพรรคก็มีการประชุม จัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำไปหารือกับพรรคต่าง ๆ
ส่วนจะต้องมีการพูดคุยกับ ส.ว. เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพิจารณ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยเป็นการภายในในเรื่องของทิศทางการโหวตนายกของ ส.ว. บุคลากรในพรรคก้าวไกลหลายคนก็มีความรู้จักมักคุ้นกับ ส.ว. บางท่านอยู่ผ่านการทำงานในรัฐสภา แต่ละท่านก็คงพยายามจะพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว
ส่วนกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย โพสทวิตเตอร์เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยโหวตนายกฯ ตามเสียงของประชาชน นายพิจารณ์ กล่าวว่า ในช่วงหาเสียงบางพรรคการเมือง เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะยกมือให้กับแคนดิเดตฯ จากพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ ต้องฝากพี่น้องสื่อมวลชนไปสอบถามดูอีกครั้ง ว่าจะทำตามคำที่พูดไว้หรือไม่ และจะเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย และพลิกโฉมการเมืองไทย ถ้าพรรคการเมืองต่างๆ ยอมรับเสียงของประชาชนและร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว.
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยแบบเป็นทางการกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ เรื่องการยกมือโหวตนายกฯ แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาล นายพิจารณ์ ตอบว่า ถ้าแต่ละพรรคมีจุดยืนที่ไม่เคารพเสียงประชาชน ก็ไม่จำเป็นต้องคุยอะไรกันมาก