"เครือข่ายเสียงปชช." แถลงการโหวตเสียงประชาชน หนุน ส.ว. โหวตเลือก " พิธา" เป็นนายกฯ เผยจำนวนโหวต 3,487,313 ครั้ง เห็นด้วย 85 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย 15 เปอร์เซ็นต์
วันที่ 18 พ.ค. 2566 "เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน" แถลงผลการโหวตเสียงประชาชน และข้อเสนอแนะต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามที่เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจาก 10 มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับสื่อมวลชน 10 สำนัก เปิดโหวต "เสียงประชาชน" มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชนจึงขอแถลงผลการโหวต พร้อมกับข้อเสนอแนะต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ดังต่อไปนี้
1.ผลการโหวตเสียงประชาชน: คำถามคือ "ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน โดยโหวตเลือกนากยกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของ ส.ส." ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม ถึงเวลา 12.00 น. ของวันนี้คือ 18 พฤษภาคม 2566 มีการโหวตทั้งสิ้น 3,487,313 ครั้ง เห็นด้วย 85% เปอร์เซ็นต์ และไม่เห็นด้วย 15% เปอร์เซ็นต์
2.ข้อเสนอแนะต่อ ส.ว.: การโหวตเสียงประชาชนที่ทำมาทั้ง 3 ครั้ง มีเป้าหมายประการเดียวคือ ให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องสาธารณะของประเทศ ได้รับฟังเสียงของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของงบประมาณของประเทศ สำหรับการโหวตเสียงประชาชนในครั้งนี้ ประเด็นคือเรื่องของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.
ทั้งนี้เนื่องจาก ส.ว.มีอำนาจเท่ากับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และได้เงินเดือนและค่าตอบแทนเท่ากับ ส.ส. แต่ไม่ได้ถูกเลือกมาจากประชาชน และไม่ได้มีสัญญาประชาคมกับประชาชนว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ดังเช่น ส.ส.ที่ได้กระทำในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ดังนั้น ส.ว.จึงยิ่งต้องฟัง "เสียงประชาชน" ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และไม่ควรทุ่มเถียงหรือเกี่ยงงอนกับประชาชน หรือบอกประชาชนไม่ให้กดดัน เพราะตำแหน่ง ส.ว.ไม่ได้ทำหน้าที่แบบให้เปล่าหรืออาสาสมัคร แต่มีเงินเดือนและค่าตอบแทนจากภาษีอากรของประชาชน และการเลือกนายกรัฐมนตรีก็มิใช่เรื่องส่วนบุคคล หรือกิจการส่วนตัวของ ส.ว. หากเป็นเรื่องส่วนรวม ที่ประชาชนเจ้าของประเทศย่อมมีสิทธิส่งเสียงได้ ทั้งนี้ในวิถีทางภายใต้กฎหมายและวิธีการที่เหมาะสมด้วย
3.การจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา: ระบบรัฐสภาคือการให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านการเลือก ส.ส.และพรรคการเมือง พรรคใดได้เสียงข้างมากย่อมได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะได้ฉันทานุมัติมาจากประชาชนจากการเลือกตั้ง ในกรณีที่ไม่มีพรรคใดได้ ส.ส.เกินครึ่ง ก็ต้องตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคอื่นที่มีแนวนโยบายไปในทางเดียวกัน โดยพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
การตั้งรัฐบาลผสมซึ่งเป็นกรณีปกติของระบบรัฐสภา สิ่งที่พรรคที่จัดตั้งรัฐบาลพึงกระทำไม่ใช่เพียงแค่ตกลงหรือต่อรองกันในเรื่องการจัดสรรหรือแบ่งกระทรวง แต่ต้องเป็นการตกลงกันในเรื่องนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชน นโยบายที่เหมือนกันก็นำมาเป็นนโยบายรัฐบาล นโยบายที่แตกต่างก็ต้องตกลงกันว่าจะปรับเข้าหากันให้เป็นนโยบายรัฐบาลได้อย่างไร หากมีนโยบายใดตกลงกันไม่ได้ก็ให้ไปหารือกันในสภาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีนโยบายที่เห็นต่างกันมากหรืออาจจะสร้างความขัดแย้งแตกแยกได้มาก ก็อาจจะให้เป็นเรื่องการสร้างพื้นที่และเวทีในการหารือร่วมกันของสังคมก่อนดำเนินการ
4."การหาเสียงครั้งที่สอง" ของพรรคที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล: การหาเสียงกับประชาชนได้เสร็จสิ้นไปแล้วโดยปรากฏเป็นผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยพรรคฝ่ายค้านเดิมหรือที่เรียกกันว่า "พรรคฝ่ายประชาธิปไตย" ได้เสียงข้างมากรวมกันเกิน 300 เสียง
โดยพรรคก้าวไกลที่ได้เสียงอันดับหนึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจากจำนวนเสียง 313 เสียงในขณะนี้นั้นมากเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว.ชุดแรกเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ทำให้จำนวนเสียงที่ต้องใช้ในการเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาซึ่งก็คือ 376 เสียง ซึ่งยังขาดอีก 63 เสียงจึงจะเป็นรัฐบาลได้
จากนี้ไปอีกประมาณ 60 วันที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จึงถือได้ว่าเป็น "การหาเสียงครั้งที่สอง" พรรคที่กำลังจะเป็นรัฐบาลจะต้องไปหาเสียงต่อกับผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ขณะนี้มี 313 เสียงแล้ว จึงขาดอีก 63 เสียง ซึ่งสามารถหาเสียงหรือขอเสียงได้ทั้งจาก ส.ส.ที่เหลือ และ ส.ว.อีก 250 คน โดยใช้นโยบายที่ตกลงกันได้ตามข้อ 3 เป็น "นโยบายว่าที่รัฐบาล" ไปหาเสียงว่าเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไร ส่วนจะหาเสียงอย่างไรก็เป็นเรื่องวิธีการของพรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล
5.บทบาทหน้าที่ กกต.: ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนมีความรู้สึกคลางแคลงใจต่อการทำหน้าทึ่ของ กกต.ยิ่งกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา กกต.จึงต้องยิ่งแสดงออกในการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรี กกต.ต้องประกาศผลการเลือกตั้งและรับรอง ส.ส. ให้คนเชื่อมั่นได้ในความเที่ยงธรรม คือเป็นไปโดยไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคหนึ่งพรรคใด
สำหรับในเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของผู้สมัคร ส.ส.นั้น หากมีผู้สมัครคนใดมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม กกต.ควรต้องประกาศว่าขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หากเลือกตั้งเสร็จแล้วค่อยประกาศว่าขาดคุณสมบัติ ย่อมเป็นความบกพร่องของ กกต.และย่อมถูกมองได้ว่าอาจมีเจตนาให้คุณให้โทษกับผู้หนึ่งผู้ใด หรือพรรคหนึ่งพรรคใดได้
สิ่งที่ กกต. พึงกระทำคือหากมิใช่กรณีการทุจริตหรือคดโกงการเลือกตั้งแล้ว กกต.ควรต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. และหากผู้ใดมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือต้องตีความ ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป ไม่พึงตัดสินเองในเรื่องที่เป็นอำนาจฝ่ายตุลาการเพราะจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย