นโยบายปฏิรูปกองทัพเอาทหารออกจากการเมือง ลดนายพล เหลือ 400 คน ชนวนแรงต้าน"พิธา"นั่งนายกฯ
พรรคก้าวไกลได้เสนอนโยบายอย่างชัดเจนที่จะปฏิรูปกองทัพ โดยจะเอาทหารออกจากการเมือง ตั้งแต่เรื่องของการแจกใบแดงห้ามนายพลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 7 ปีหลังเกษียณ ลดนายพล เหลือ 400 คน โอนถ่ายธุรกิจกองทัพทั้งหมดมาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลแทน ยังรวมถึงการ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด
นโยบายเหล่านี้ย่อมทำให้กองทัพสะเทือนอย่างแน่นอนเหมือนถูกทุบหม้อข้าว งานนี้จึงต้องจับตาไปยังการโหวตของส.ว.สายทหารและตำรวจซึ่งอยู่ 100 กว่าเสียง จะยอมโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หรืออาจจะผนึกกำลังกันเตะสกัดไม่ให้รัฐบาลก้าวไกลเดินหน้าได้ เป็นเรื่องที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะทหารยังมีอิทธิพลสูงต่อการเมืองไทยมาตลอด
สำหรับนโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกล มีรายละเอียดดังนี้
1.แจกใบแดงนายพลให้ห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเวลา 7 ปี หลังออกจากราชการ เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ หรือโดยอดีตนายพลที่ยังคงมีสายสัมพันธ์ในกองทัพ (ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาใช้สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม)
2.กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ยกเลิกสภากลาโหม เปลี่ยนจากระบบบังคับบัญชาเป็นระบบเสนาธิการร่วมที่มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อให้การตัดสินใจต่าง ๆ ของเหล่าทัพยึดโยงกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นการลดโอกาสการเกิดรัฐประหารด้วย
3.ตั้งผู้ตรวจการกองทัพที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของกองทัพ โดยครอบคลุมถึง (1) การตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม หรือการกระทำที่ขัดหลักกองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน (2) การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ รายได้ของกองทัพ และโครงการจัดซื้อจัดจ้าง (3) การพิจารณาและสืบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร
4.ลดกำลังพลในภาพรวมลง 30-40% ซึ่งประกอบไปด้วย
*การลดจำนวนนายพลเหลือ 400 นาย
*ลดจำนวนทหารกองประจำการหรือพลทหาร
*ควบรวมสำนักปลัดกลาโหมเข้ากับกองบัญชาการกองทัพไทย
*กำหนดให้ทุกเหล่าทัพใช้ผู้ช่วยทูตทหารร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานอื่นๆ (เช่น ธุรการ งานวิจัย ส่งกำลังบำรุง)
*โอนภารกิจ-งบที่ไม่เกี่ยวกับการทหาร (เช่น สร้าง-ซ่อมถนน พัฒนาแหล่งน้ำ) ให้หน่วยงานพลเรือนที่เกี่ยวข้อง และทำเรื่องขอใช้กำลังพลหากมีความต้องการเป็นกรณี
ทั้งนี้การลดจำนวนนายพลเหลือ 400 นาย สร้างความเป็นธรรมในกองทัพและระหว่างหน่วยงานรัฐ โดยการตัดสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของนายทหารที่ได้มาจากการเอาตำแหน่งนายพลไปเทียบเท่าอธิบดี ซึ่งจะนำไปสู่การ สร้างความเป็นธรรมระหว่างข้าราชการทหารและพลเรือน เกี่ยวกับสวัสดิการ (เช่น ค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนรถประจำตำแหน่ง) สร้างความเป็นธรรมระหว่างข้าราชการทหารและพลเรือน เกี่ยวกับสิทธิในการเข้ารับตำแหน่งสำคัญ ๆ (เช่น กรรมการรัฐวิสาหกิจ)
5.ยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนที่มาจากเสียงของประชาชน (เช่น สภากลาโหมที่มีอำนาจเหนือรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายทางการทหาร บอร์ดแต่งตั้งนายพลที่ประกอบไปด้วยนายทหารเป็นส่วนใหญ่)
6.ยกเลิกศาลทหาร ในสถานการณ์ปกติ โดยให้มีได้เฉพาะช่วงการประกาศสงครามเท่านั้น โดยให้คดีเกี่ยวกับวินัยทหาร และคดีอาญาที่ทหารเป็นคู่ความ ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติผ่านศาลปกครอง และศาลยุติธรรม
ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร
7.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด โดยไม่กระทบต่อภารกิจในการรักษาความมั่นคง ผ่านการลดยอดพลทหารที่กองทัพเรียกขอที่ไม่จำเป็นต่อภารกิจความมั่นคง (เช่น ยอดผี พลทหารรับใช้ งานที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง)สร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหาร (เช่น การสร้าง สวัสดิภาพ-สวัสดิการ-ความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี การกำจัดความรุนแรงในค่าย)
8.โอนการถือครองที่ดินกองทัพ (โดยเฉพาะค่ายทหารที่มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่น้อยลงจากการลดขนาดกองทัพ) กลับมาเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อให้การจัดสรรที่ดินเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ (เช่น ที่พักอาศัยใจกลางเมือง ที่ดินเพื่อการเกษตร ตลาด สวนสาธารณะ)
9.โอนถ่ายธุรกิจกองทัพทั้งหมดมาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลแทน โดยสวัสดิการกำลังพลที่กองทัพอ้างว่านำมาจากการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่ผ่านมา ก็ให้ไปขอผ่านสำนักงบประมาณและสภาผู้แทนราษฎรตามกระบวนการงบประมาณเหมือนหน่วยงานรัฐอื่น ๆ
10.เพิ่มเวลาการศึกษาในมหาวิทยาลัยพลเรือนให้กับนักเรียนทหารในกลุ่มวิชาที่เป็นวิชาการ เพื่อให้นักเรียนทหารได้เรียนร่วมกับพลเรือน โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อย
11.การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ต้องมีเงื่อนไขบังคับให้ผู้ขายยุทโธปกรณ์ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว และเป็นการเพิ่มการจ้างงานจากการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่งเสริมการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
12.เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ปลอดภัย-มั่นคง-มีอนาคตสร้างความปลอดภัย จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ผ่านกลไกการร้องทุกข์และร้องเรียนผู้บังคับบัญชาที่มีกระบวนการที่เป็นธรรมและปลอดภัยต่อตัวผู้ร้อง รวมถึงมีการแก้ พ.ร.บ.วินัยทหาร ที่ให้อำนาจล้นเกินแก่ผู้บังคับบัญชาในการธำรงวินัยสร้างความมั่นคง ผ่านรายได้ที่เหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ โอนตรง-โอนครบ-ไม่มีหัก-ไม่มีทอน
*มีประกันชีวิตที่มีทุนให้กับครอบครัวในการประกอบอาชีพหากพิการหรือเสียชีวิต และมีทุนการศึกษาแก่ทายาทจนกว่าจะมีเงินได้กลับมาเลี้ยงครอบครัว รวมถึงการให้พลทหารมีสิทธิประกันสังคมสำหรับการรักษาพยาบาลเหมือนกับพนักงานราชการทั่วไป
*สร้างอนาคต ผ่านการทลายระบบเส้นสาย การเลื่อนขั้น-โยกย้ายต้องเป็น merit system ที่เน้นผลงานมากกว่าอายุงาน และในกรณีพลทหารหรือชั้นประทวน ต้องเพิ่มโอกาสในการเรียนโรงเรียนนายร้อย-นายสิบ และโอกาสไต่เต้าสู่นายทหารชั้นสัญญาบัตร
13.ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อทำลายโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐที่ขึ้นมายัดเยียดและขยายนิยามความมั่นคงแบบทหารมาใช้จัดการความมั่นคงภายใน
14.ยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง
15.ยกเครื่องกฎหมายความมั่นคงพิเศษให้สอดคล้องมาตรฐานสากล และเพื่อให้การบริหารราชการในวิกฤติ สามารถกระทำควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้ รวมถึง
*เสนอ กฎอัยการศึกฉบับใหม่ (แทนที่ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก 2457) - เช่น ใช้เฉพาะสภาวะศึกสงคราม โดยที่อำนาจในการประกาศและการบริหารยังคงอยู่ที่รัฐบาลพลเรือน
*เสนอ พ.ร.บ. ฉุกเฉิน ฉบับใหม่ (แทนที่ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548) - เช่น ตัดอำนาจรัฐในการควบคุมการสื่อสารหรือคุมตัวได้เกิน 48 ชั่วใมง เปิดช่องให้ประชาชนฟ้องศาลปกครองได้หากรัฐกระทำผิด กำหนดให้การขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องผ่านการเห็นชอบของสภาฯ
*ยกเลิก พ.ร.บ. ความมั่นคง 2551