กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมตั้งเวทีหน้าสภาเรียกร้องส.ว.ยึดมติประชาชนโหวต "พิธา"นั่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2566 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดรวมตัวหน้ารัฐสภาเกียกกายฝั่งบุญรอด เพื่อกดดัน ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมติประชาชน โดยที่ ส.ว.ได้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งบรรยากาศโดยรอบ ในช่วงบ่ายมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางโพ และตำรวจรัฐสภา ตั้งแต่จุดบริเวณทางเข้าอาคาร และบริเวณภายในอาคารกันอย่างเข้มงวด โดยมีหน่วยควบคุมฝูงชนประมาณ 3 กองร้อย กับกองร้อยน้ำหวาน 1 หมวด ทยอยเข้ามาประจำการในช่วงบ่าย รวมทั้งรถน้ำดับเพลิง และรถสุขาเคลื่อนที่
ทั้งนี้บรรยากาศการชุมนุมเริ่มคึกคัก เวลา 16.30 น. โดยมี กลุ่มศิลปินเพื่อราษฎร นำโดย นายโชคดี ร่มพฤกษ์ หรืออาเล็ก ขับร้องบรรเลงเพลง ‘ความคับแค้น’ในขณะที่บนเวทีก็มีการอภิปรายเรื่องบทบาทของส.ว.ในระบอบประชาธิปไตย
ด้าน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ นักกิจกรรมทางการเมืองปรากฏตัว โดยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล ว่าหากระบอบประชาธิปไตยบ้านเราโปร่งใสจริงๆ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่เมกเซนส์อยู่แล้ว
“(ถ้า ส.ว.ไม่โหวตให้) ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะทนต่อการขัดขวางระบอบประชาธิปไตยของ ส.ว.250 คนได้แค่ไหน เมื่อประชาชนเลือกมาแล้ว นอกจากนี้ ส.ว.ไม่ควรจะต้องมีบทบาทอะไรเลยในการมาโหวตเลือกนายกฯ แล้วยังมาโหวตสวนอีก ก็ต้องรอดูพี่น้องประชาชน แต่เชื่อว่าคงไม่นิ่งเงียบหายไปแน่นอน อยากให้เคารพประชาชน” น.ส.ภัสวราวลี กล่าว
ทั้งนี้กลุ่มราษฎรได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงส.ว.โดยระบุว่า
ขอให้สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงมติเห็นชอบให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เรียน สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน
สืบเนื่องจากวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 152 ที่นั่ง และสามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆในการจัดตั้งรัฐบาลรวมกันได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ จึงหมายความว่าพรรคก้าวไกลมีสิทธิอันชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภาบางท่านแสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากเจตจำนงค์และความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน
ด้วยท่าที่ของสมาชิกวุฒิสภาบางท่านที่ปฏิเสธเจตจำนงของประชาชน นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อสมาชิกวุฒิสภาในการดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ประชาชนไม่ว่าจะมีฐานะหรือสถานภาพแตกต่างกันเพียงใด ล้วนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิกวุฒิสภาผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงขอความกรุณาสมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตจำนงของประชาชนโดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน
ทั้งนี้ การกระทำที่สง่างามและตามหลักการของประชาธิปไตยในครั้งนี้ จะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย