แกนนำก้าวไกล โพสต์ 3 ข้อ ควรยกเลิกคำสั่งห้ามขายเหล้าในวันพระใหญ่ หลังเพิ่งผ่าน "วันวิสาขบูชา"ชี้ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ชาวพุทธ แต่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และแทบไม่มีบังคับใช้ในต่างประเทศ
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ แสดงความคิดเห็นถึง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ โดยระบุว่า
ควรยกเลิกประกาศคำสั่งไม่ค่อยมีเหตุผลนี้ หรือแก้ไขให้เหมาะสมเพราะ 1. ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ควบคุมการดื่ม เช่น ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ 2. ประเทศเราไม่ได้มีแต่ชาวพุทธ แต่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และ 3.แทบไม่มีบังคับใช้ในต่างประเทศ และกฎหมายนี้ ต่อยอดมาจากกฎหมายเก่าเกือบ 50 ปีก่อน
อนึ่ง วันที่้ 3 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ห้ามขายเหล้า ผู้ประกอบการ ฝ่าฝืนเจอคุก งดจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งชนิดขายส่งและขายปลีกทั่วราซอาณาจักร ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืน(เวลา 24.00 น.) ของคืนวันที่ 2 มิ.ย. 66 จนถึงเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 3 มิ.ย. 66 หากผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น
ก่อนหน้านี้ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ว่าที่ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ผู้นำการยื่นข้อเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อปลดล็อกการผลิตสุรา เบียร์ โพสต์ข้อความเล่าที่มาทางการเมือง กฎหมาย ของการห้ามขายสุรา เบียร์ วันพระใหญ่ โดย ระบุว่า
เมื่อวันพระใหญ่วนมาถึง ผมก็มักจะได้ยินเสียงบ่นจาก มิตรสหายรอบข้างหลาย ๆ ท่านทุกทีว่า "วันหยุดทั้งที หาเครื่องดื่มดี ๆ ที่ตัวเองชอบกินไม่ได้เลย" วันนี้ผมเลยอยากมาเล่าประวัติเกี่ยวกับกฎหมายการ "ห้ามขายเหล้าในวันพระ" กันสักหน่อยครับ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับว่าเป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายที่ออกในสมัยของนิติบัญญัติแห่งชาติ สภาที่แต่งตั้ง 100% โดย คณะรัฐประหาร ปี 2549 ก่อนที่เราจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธันวาคม 2550
โดยจากบันทึกการประชุมครั้งที่ 74/2550 วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม 2550 มีกฎหมายผ่าน [สภาตรายาง] แห่งนี้ รวมทั้งสิ้น 27 ฉบับ เริ่มประชุมกันตั้งแต่ 10.45 น. ก่อนที่จะจบพักการประชุมในเวลา 22.45 น. คิดเป็นเวลาการประชุมรวมทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง หรือ 720 นาที ซึ่งสภาแห่งนี้ใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายฉบับละ 26 นาทีเศษเพียงเท่านั้นเอง
ผลการกระทำในตอนนั้นทำให้ต่อมาประเทศเรามีข้อกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์มากมาย ซึ่งมาตราที่ดังที่สุดคงจะหนีไม่พ้นมาตรา 32 ที่ว่า "ห้ามโฆษณา" ที่ทุกท่านรู้จักกันดีอยู่แล้วว่ามีปัญหา แต่มาตราที่ผมจะพูดถึงวันนี้ก็คือ มาตรา 28 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีมากำหนดวันเวลา เงื่อนไข การขายได้ สุดท้ายแล้วในสมัย รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ได้มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ห้ามขายเหล้าในวันพระ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรานี้
ก่อนที่ต่อมาหลังการ รัฐประหาร2557 รัฐบาลประยุทธ์ จึงออกประกาศให้สำนักนายกรัฐมนตรีขันน็อตการ ห้ามขายสุรา ให้แน่นขึ้นไปอีก โดยห้ามขายทั้งในโรงแรมและเพิ่มการห้ามขายในวันออกพรรษาเข้าไปด้วย
หากนึกภาพตามที่ผมเล่ามา นี่ถือเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกท่านไม่สามารถหาเครื่องดื่มเย็น ๆ ชื่นใจดื่มได้ในวันหยุดชิล ๆ แบบนี้
แค่เพราะว่า "เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ" อย่างนั้นหรือ "เราถึงต้องห้ามขายเหล้าเบียร์ในวันนี้ด้วย" การใช้หลักศาสนามาเป็นเหตุผลในการออกกฎหมายนี้ ผมคิดว่าเป็นการไม่ชอบ และเป็นการขัดต่อหลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา (ม.31) และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ (ม.40) ตามรัฐธรรมนูญด้วย
ผมมีข้อสังเกตว่า ถ้าหากเราออกกฎหมายโดยใช้หลักศาสนามาเป็นเหตุผลว่ากลัวคนทำผิดศีลข้อห้ามทางศาสนานั้น ทำไมเราถึงไม่บัญญัติให้การกระทำของพระภิกษุที่ทำผิดศีลเป็นความผิดทางกฎหมายด้วยไปเลย
ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น คนไทยมิได้มีแค่คนที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น แต่สังคมเราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ประกอบไปด้วยผู้คนมากมายหลากหลายเชื้อชาติ ความเชื่อ ดังนั้นรัฐเราควรดำรงค์ตนเป็นรัฐฆราวาส(secular state) ไม่ควรเอากรอบคิดของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากำหนดเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษแบบนี้
มีใครอยากให้ยกเลิกบ้างไหมครับ สนใจลองแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ"
ด้านพระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ เจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และพูดคุยกันในกลุ่มองค์กรชาวพุทธเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อวานนี้ (3 มิถุนายน) เป็นวันวิสาขบูชา พระสงฆ์สามเณร ส่วนงานต่างๆ และชาวพุทธทั่วประเทศต่างช่วยกันประกอบพิธี ทั้งที่เป็นบุญกิริยาและสัมมาปฏิบัติเพื่อความสันติ และสงบสุขของผู้คนในประเทศและโดยพวกเราชาวพุทธก็ไม่เคยคิดเลยว่าเราเป็นเจ้าของประเทศ แต่เพียงศาสนาเดียวและเที่ยวไปรุกรานหรือปิดกั้นเสรีภาพของศาสนาอื่น ไม่เคย
วันนี้โลกนี้กำลังเผชิญวิกฤตมากมาย ปัญญาอันมีรากฐานมาจากศาสนาจะช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ ของชาวโลกได้ ดังนั้นขอให้มองศาสนาในแง่ศีลธรรม ที่ประกอบด้วยสันติ สงบ ร่มเย็นและปัญญาที่ก่อเกิดจากสัมมาทิฎฐิ กรุณาอย่าเอาวันสำคัญทางศาสนาแล้วถือโอกาสนั้นวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งอาจจะทำให้สาวกผู้เคารพเลื่อมใสในศาสนานั้นๆ เข้าใจคลาดเคลื่อนในเจตนาของท่านได้ และเรื่องแบบนี้ก็อาจจะบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ในที่สุด
ในขณะนี้องค์กรชาวพุทธทั้งในและต่างประเทศได้ติดต่อมาที่อาตมาในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยเป็นจำนวนมากเพื่อจะได้พูดคุยและกำหนดท่าที่ของขาวพุทธในกรณีดังกล่าวโดยในการพูดคุยและกำหนดท่าทีนั้นจะมุ่งเน้นการใช้ปัญญาในการแสวงหาความจริงให้ปรากฎโดยไม่ประสงค์ที่จะมุ่งเน้นการสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดความแตกแยกของคนในสังคม
พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ให้สำนักงานกลางศูนย์พิทักษ์ฯ แจ้งไปทุกองค์กรว่า ขอให้ทุกท่านช่วยกันบำเพ็ญขันติบารมี แผ่เมตตาให้มาก ทุกคนย่อมมีสิทธิในการวิพากษ์ได้แม้ท่านจะมองเจตนาว่าเป็นการวิพากษ์ในวันสำคัญของชาวพุทธ มองว่าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ จึงได้ย้ำไปว่า ขณะนี้ประเทศของเราบอบช้ำมามากแล้ว เราชาวพุทธก็ไม่ควรไปซ้ำเติมสุมปัญหาเข้าไปอีก เพียงแต่อยากบอกทุกคนทุกฝ่ายด้วยเมตตาว่า การเมืองวันนี้ท่านก็ว่าของท่านไป อย่าฟาดอย่าฟันไปทุกเรื่อง ค่อยคิดค่อยทำ อย่าร้อนวิชา
"อาตมาเรียกร้องให้ใช้สติ สัมปชัญญะให้มาก วันนี้ใครรวมกับใคร พระไม่มีสิทธิจะไปก้าวล่วง แต่เมื่อนโยบายของท่าน พรรคของท่านแปรเปลี่ยนมาเป็นนโยบายรัฐบาล แน่นอนย่อมมีผลกระทบกับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์สามเณร ดังนั้นจะพูด จะคิดจะทำอะไรพระพุทธองค์สอนให้มีสติรอบคอบ จะนำประโยชน์มากกว่า" พระราชวัชรสารบัณฑิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ว่าที่รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล มีนโยบายขับเคลื่อนสุราก้าวหน้า ล่าสุดหลังจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ออกมาระบุถึงสุราพื้นบ้านหลายยี่ห้อจนทำให้กลายเป็นกระแสขายดีในตอนนี้
ทั้งนี้ 4 มิ.ย. 66 พรรคก้าวไกล ได้แชร์วีดีโอและข้อความประกอบภายใต้หัวข้อ ‘รัฐบาลก้าวไกล อนาคตสุราไทยต้องไม่เหมือนเดิม’ ระบุเนื้อหาว่า เป็นเวลามากกว่า 70 ปี ที่อำนาจรัฐให้อำนาจผูกขาดธุรกิจสุราให้อยู่ในมือเจ้าสัว แต่เหลืออีกเพียงก้าวเดียว โซ่ตรวนที่ปิดกั้นศักยภาพของผู้ผลิตสุราไทยกำลังจะถูกทำลายลง
มูลค่าธุรกิจสุราทั้งหมด 500,000 ล้านบาท จากที่อยู่ในมือของรายใหญ่ 2-3 ราย กำลังจะกระจายไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยทั่วประเทศ ให้สร้างสรรค์เอกลักษณ์สินค้าเกษตรของท้องถิ่นตัวเอง สินค้าเกษตร เก็บไว้ในโกดัง มีแต่ราคาจะลดเหล้า เก็บไว้ในไห มีแต่ราคาจะสูงขึ้น