ถามอย่างไรก็ไม่บอก "พิธา" ปัดตอบขายหุ้นไอทีวี โบ้ย "เลขาพรรค" แจงแล้ว
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2566 ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวขายหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นแล้ว เป็นความจริงหรือไม่
นายพิธา ระบุเพียงว่า นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้อธิบายไปแล้ว ก่อนจะขึ้นรถออกจากที่ทําการพรรคทันที
ทั้งนี้มีกระแสว่า นายพิธา อาจขายหุ้นดังกล่าวออกไปแล้ว เพื่อให้ไม่กระทบต่อคุณสมบัติ นายกรัฐมนตรี
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องคดีไอทีวียังมั่นใจเหมือนเดิมว่าจะสามารถชี้แจงและต่อสู้ได้ เหลือแค่รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะประสานงานมาทางนายพิธาและพรรค เมื่อไหร่ และยังยืนยันว่า นายพิธา ไม่ได้มีความผิด
ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่า วันนี้ทางพรรคต้องรอดูว่าคุณสมบัติของนายพิธามีการถือหุ้นจริงใช่หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องสำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจกับ ส.ว. เพราะอย่างไรก็ตาม เรื่องคดีถือหุ้นสื่อต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และจะพยายามประสานงานกับ ส.ว. ซี่งขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว ส่วนใหญ่ก็เหมือนเดิมอย่างที่เคยชี้แจงไปว่าเมื่อได้มีการพูดคุยกันแล้วกำแพงที่มีอยู่ก็จะลดลง
อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงกระแสข่าวว่ามีการเทขายหรือโอนหุ้นไปก่อนแล้วจริงหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียด แต่จริงๆ แล้วการตีความกฎหมาย บรรทัดฐาน และมาตรฐานการวินิจฉัยมีหลายกรณีที่สามารถเทียบเคียงได้ ไม่น่าจะมีอะไร
วันเดียวกัน นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ แถลงว่า พีมูฟมาติดตามนโยบายที่เคยยื่นให้กับพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง ในฐานะที่พรรค ก.ก.เป็นพรรคที่ได้อันดับหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล อยากเห็นว่านโยบายของพีมูฟที่เสนอกับพรรค ก.ก. ถูกบรรจุไปในนโยบายของพรรคมากน้อยแค่ไหน และเราอยากพบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ก.ก.ด้วย
ด้าน นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรค ก.ก. รับข้อเสนอนโยบายของพีมูฟ ซึ่งเป็นอีกทิศทางหนึ่งของพรรค ก.ก.ที่สะท้อนผ่าน MOU จัดตั้งรัฐบาล การมาติดตามของพีมูฟครั้งนี้เหมือนมาตรวจการบ้านที่เคยมอบไว้ให้กับพรรค
สำหรับเนื้อหาในร่างแถลงการณ์ของพีมูฟ ที่แสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ มีดังนี้
1. เรียกร้องพรรคการเมืองทั้งหมด โหวตรับรองนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรวมเสียงข้างมาก และชนะการเลือกตั้ง
2. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ควรพิจารณาคุณสมบัติของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตามรัฐธรรมนูญ และวินิจฉัยตามหลักประชาธิปไตย
3. การแก้ไขปัญหาของเครือข่ายภาคประชาชน ต้องเร่งรัด ติดตาม จำเป็นต้องมีรัฐมนตรีที่เข้าใจปัญหา และไม่มีอคติต่อประชาชน ทำงานร่วมกันได้
“เสียงของประชาชน คือฉันทามติ ที่ทรงพลังกว่าอำนาจใดๆ เราหวังว่า ทุกพรรคการเมือง และว่าที่ ส.ส. จะร่วมกันสร้างการเมืองที่ถูกต้อง เป็นประชาธิปไตยโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน”