เลขาฯ ป.ป.ช.เผย “พิธา” ยื่นค้ำประกันหนี้-ถือหุ้น itv แล้ว ชี้มีหน้าที่แค่ตรวจสอบ โยน กกต.ชี้ขาด มีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะ โฆษก ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีการค้ำประกันหนี้สินจำนวน 460 ล้านบาท ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่า เท่าที่ตรวจสอบ ยังไม่เห็นว่ามีคำร้องในประเด็นอะไรบ้าง แต่เท่าที่นายพิธายื่นบัญชีทรัพย์สินมา มีการยื่นบัญชีหุ้นไอทีวี และเรื่องกู้ค้ำประกันอยู่ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าใช่ตัวเดียวกันกับที่ปรากฎเป็นข่าวหรือไม่
นายนิวัติไชย กล่าวต่อว่า แต่การค้ำประกันหนี้ยังถือว่าไม่มีหนี้ที่เกิดขึ้นจริง เป็นเพียงสิทธิของทางลูกหนี้ ที่หากผิดนัดก็สามารถไปเรียกร้องกับผู้ค้ำประกันได้ ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่ต้องนำไปพิจารณาต่อ ว่านายพิธาต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งถ้ายื่นไปแล้ว แล้วมาค้ำก็ไม่ต้องแจ้ง แต่เราจะดูทรัพย์สินที่ยื่นในวันดำรงตำแหน่ง และวันพ้นจากตำแหน่ง และถ้ามีการร้องเรียน ป.ป.ช. ก็จะไปตรวจสอบที่มาของรายได้ ว่ามีการค้ำจริงไหม หนี้สินของใคร มูลค่าเท่าไหร่ และจำเป็นต้องยื่นหรือไม่ เพราะเป็นสถานะที่ยังไม่มีตัวหนี้สินจริงๆ ส่วนจะมีความผิดหรือไม่นั้น อยู่ที่อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เมื่อถามว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของ ป.ป.ช. พบเจอความผิดปกติในบัญชีทรัพย์สินของนายพิธาหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่ข้อมูลที่ปรากฎเป็นข่าว ทาง ป.ป.ช. จะนำมาประกอบการพิจารณาอีกทีหนึ่ง ส่วนกรณีหุ้นไอทีวี ตนก็ยังไม่แน่ใจ เพราะเท่าที่เห็นในใบหุ้นที่แจ้งเข้ามา นายพิธามีหุ้นอยู่ในบริษัทไอทีวี 42,000 หุ้น จึงต้องดูว่าเป็นการยื่นในฐานะอะไร เป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ เราต้องตรวจสอบว่ามีจริง และเป็นเจ้าของจริงหรือไม่ ถ้าหากเป็นเจ้าของ ตามกฎหมายก็ต้องยื่น ส่วนกรณีที่นายพิธาเพิ่งจะมายื่นเรื่องนั้น จะมีความผิดหรือไม่นายนิวัติไชย ย้ำว่า ต้องดูระยะเวลา เจตนา เพราะนายพิธาก็ยื่นมาแล้ว ตอนเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ในปี 2562 แต่ครั้งนี้เป็นเพียงการยื่นเพิ่มเติมทีหลัง
นายนิวัติไชย ยังกล่าวอีกว่า ส่วนการพิจารณาหน้าที่ และคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของรายบุคคล ไม่ใช่หน้าที่ของป.ป.ช. เพราะ ป.ป.ช. มีหน้าที่แค่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน แต่ถ้าหากเขาจงใจไม่ยื่น ก็ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะตัดสินให้ขาดคุณสมบัติ แต่อาจจะประสาน ต่อ กกต. ได้ หรือ กกต. สามารถขอข้อมูลมาเป็นหลักฐาน ประกอบการพิจารณาได้
เมื่อถามถึงนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่จะปฏิรูปองค์กรอิสระที่ไม่อิสระ นายนิวัติไชย กล่าวว่า เป็นอำนาจของทางสภาฯ ตนตอบไม่ได้ แล้วแต่ว่าองค์อำนาจที่เขามีอำนาจ จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างไร ในด้านการแก้ไขกฎหมายแก้ไขบทบัญญัติหน้าที่และอำนาจ หรือกระบวนการสรรหาอย่างไร ส่วนที่พุ่งเป้ามาที่องค์กรอิสระโดยตรง อยู่ที่มุมมองของแต่ละบุคคล แต่ต้องดูผลงาน และสิ่งที่องค์กรอิสระทำมาตลอดด้วย ว่าแต่ละองค์กรมีผลงานอย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างต้องวิเคราะห์ที่มาที่ไป เพราะสิ่งที่ทำมาแล้วอาจจะสูญเปล่า โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ