นักวิชาการ ชี้เอกสาร "เรืองไกร" ยื่นกกต. ปมไอทีวี เข้าข่ายเอกสารเท็จ

นักวิชาการ ชี้เอกสาร
"สฤณี" นักวิชาการ ย้ำเอกสารหลายชุดของ "เรืองไกร" ยื่นกกต. ใช้ไม่ได้ เข้าข่ายเอกสารเท็จ ชี้กกต.ไม่ควรนำพิจารณา

วันที่ 16 มิ.ย.2566 น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่าน เพจ Sarinee Achavanuntakul-สฤณี อาชวานันทกุล ระบุว่า ในเมื่อบริษัทไอทีวี ยืนยันชัดเจนในจดหมายชี้แจงวันที่ 15 มิ.ย.ว่า ร่างงบไตรมาส 1 ปี 2566 (น่าจะชุดเดียวกันกับที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เอาไปร้อง กกต.) เป็นเอกสารภายในบริษัทเท่านั้น “จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ” (แต่พอมีคนตั้งคำถามมากๆ ว่า แล้วทำไมเอาเอกสารภายในขึ้นเว็บบริษัทให้คนดาวน์โหลดได้ เมื่อวานก็ได้มีการซ่อนลิงก์ดาวน์โหลดงบไตรมาสทั้งหมดแล้ว)

ในเมื่อบริษัทยอมรับว่าเป็นเอกสารภายในเท่านั้น ก็แปลว่า ข้อมูลล่าสุดที่เป็นทางการ ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ นำไปใช้อ้างอิงได้ ว่าวันนี้ “ไอทีวีทำธุรกิจอะไร” ก็มีแค่ งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของ บมจ. อินทัช บริษัทแม่ของไอทีวี ซึ่งงบการเงินระหว่างกาลชุดนี้ยื่นต่อ ก.ล.ต. ด้วย และผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีแล้ว รายงานการสอบทานของผู้สอบบัญชีระบุว่า ได้สอบทานงบของบริษัทอินทัช “และบริษัทย่อย” ซึ่งก็แปลว่า สอบทานงบไตรมาส 1 ของไอทีวีมาแล้วเช่นกัน

งบไตรมาส 1 ปี 2566 ของอินทัช ชี้ชัดว่า ณ วันที่ 31 มี.ค. 2566 สถานะของไอทีวี คือ “หยุดดำเนินธุรกิจ” (ดูภาพประกอบด้านล่าง) ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่เราได้รับรู้มาตลอด ก่อนเดือนเม.ย. ที่ดูเหมือนจะเริ่มมีความพยายามเปลี่ยนให้ไอทีวีลุกขึ้นมาทำสื่อ(อะไรก็ได้)

ในบรรดาเอกสารต่างๆ ที่ปรากฎในข่าวว่า นายเรืองไกร เอาไปร้อง กกต. มาถึงวันนี้มีหลายชุดที่ “ใช้ไม่ได้” แล้ว

1.แบบ ส.บช.3 ใบปะหน้านำส่งงบการเงินประจำปี 2565 น่าจะเข้าข่าย “เอกสารเท็จ” เนื่องจากระบุ “สื่อโฆษณา” ในช่อง “สินค้าและบริการ” ทั้งที่ไอทีวีไม่ได้ทำธุรกิจนี้และไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้เลยในปี 2565 –> บริษัทไอทีวีควรเร่งส่งแบบฟอร์มนี้ฉบับแก้ไขให้กับกรมพัฒน์ฯ โดยเร็ว และ กกต.ไม่ควรพิจารณาแบบ ส.บช.3 ที่นักร้องเอาไปร้อง

2.รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี วันที่ 26 เม.ย. 2566 มีข้อโต้แย้งมากมายว่า บันทึกไม่ตรงกับคลิปที่สื่อเผยแพร่ (และไอทีวียอมรับผ่านจดหมายชี้แจงว่า เป็นคลิปจริง) เช่น คำตอบ “ไม่ได้ดำเนินการใดๆ” กลับถูกบันทึกเป็น “ยังดำเนินการตามวัตถุประสงค์…” ดังนั้น รายงานนี้ถ้าไม่แก้ น่าจะเข้าข่าย “รายงานการประชุมเท็จ” –> ไอทีวีควรแก้ไขรายงานการประชุมให้ถูกต้อง และ กกต.ไม่ควรพิจารณารายงานเก่าที่นักร้องเอาไปร้อง

3.ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี อันนี้ไอทีวีบอกเองว่า ยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ –> กกต. ไม่ควรพิจารณา
ฝากสื่อตามต่อด้วย ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องตาม คิดว่ามาถึงจุดนี้ บมจ. อินทัช ในฐานะบริษัทแม่ของไอทีวีที่จัดการทุกสิ่งให้ ควรต้องออกโรงแล้ว คณะกรรมการตรวจสอบ (audit committee) ของบริษัทก็มี ยิ่งอยู่นิ่งๆ ไปนานๆ ผู้ถือหุ้นจะหาว่าขาดธรรมาภิบาล

ป.ล. ในส่วน บริการลงสื่อโฆษณา ให้กับบริษัทในเครือ (กลุ่มอินทัช) ที่ร่างงบไตรมาส 1 ของไอทีวีอ้างว่า เริ่มเสนอ 24 ก.พ. 66 (วันเดียวกันกับที่ผู้สอบบัญชีเซ็นงบปี 65 อิอิ) และจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ปี 2566 นั้น ไม่น่าจะเสนอให้อินทัชหรือบริษัทแม่ เพราะงบไตรมาส 1 ปี 2566 ของอินทัชยังไม่ปรากฎธุรกรรมนี้ใน “รายการระหว่างกัน” แต่กลุ่มอินทัชนอกจากอินทัชเองแล้ว มีบริษัทอีกแค่ 3 แห่ง นอกจากไอทีวี

เชื่อว่านักการเงินและนักบัญชีหลายท่านจะรอการรายงานงบไตรมาส 2 ของอินทัชด้วยใจระทึก และอีกหลายเดือนนับจากนี้ เราน่าจะเรียกร้องให้ไอทีวี เปิดงบไตรมาส 2 ด้วยเพื่อความชัดเจน

จากนั้นน.ส.สฤณี โพสต์อีกว่า สังเกตว่ามีสื่อหลายค่ายที่ดูพยายามทำให้ประชาชนสับสน ด้วยการนำเสนอแต่คำตัดสินคดีหุ้นสื่อในปี 2562 หรือปีแรกที่มีคดีเหล่านี้ ทั้งที่นักกฎหมายหลายคนก็พยายามบอกแล้วว่า คำตัดสินศาลตั้งแต่ปี 2563 มีพัฒนาการน่าสนใจ เช่น เลิกดูแค่รายการวัตถุประสงค์ในบริคณห์สนธิ หรือดูว่าไปแจ้งยกเลิกหรือยัง แต่ดู “ข้อเท็จจริง” ว่าถือหุ้นหรือไม่ กิจการทำสื่อจริงหรือไม่ คำตัดสินในปี 2566 บางคดีไปไกลถึงดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย (ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว)

คิดง่ายๆ ก็ได้ค่ะว่า ถ้ามาถึงวันนี้ ถ้าศาลดูแค่รายการวัตถุประสงค์และดูว่าไปจดเลิกกิจการหรือยัง เราก็คงไม่ได้เห็นมหากาพย์ไอทีวีที่ยืดเยื้อมาขนาดนี้ อย่าหลงกลสื่อแย่ๆ

TAGS: #เรืองไกร #ไอทีวี #พิธา