สภา คาดไทม์ไลน์ หลัง กกต.รับรอง ส.ส. โหวตประธานสภา 4 ก.ค.ประชุมร่วมรัฐสภา โหวตนายกฯ 15 กค. 66 ด้าน "วิษณุ" เผย "ครม.ประยุทธ์" หมดวาระเร็วกว่าที่คิด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงไทมฺไลน์ขั้นตอนหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)รับรอง ส.สครบ 500 คน ว่า เมื่อ ส.ส.ไปรายงานตัวกับรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 20-24 มิ.ย. แต่ความจริงแล้วต้องใช้เวลา 7 วันก็จะมีการแจ้งกลับมายังรัฐบาล ว่าขณะนี้มี ส.ส.มารายงานตัวแล้วกี่คน ซึ่งหากมีจำนวนมากพอไม่โหรงเหรง ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลประกอบรัฐพิธีเสด็จเปิดประชุมรัฐสภา ที่อาคารรัฐสภา
และเมื่อโปรดเกล้าฯวันใดและพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้ ก็จะเสด็จฯไปวันนั้น ในการเลือกตั้งประธานสภาฯต้องทำภายใน 10 วัน นับจากวันเสด็จฯเปิดประชุมสภา แต่โดย ธรรมเนียมเขาจะใช้กันเร็ว โดยมีเหตุผลว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเข้าเฝ้าฯกันแล้ว และไม่ต้องกลับบ้าน ซึ่งแล้วแต่ ส.ส.ที่เขาจะต้องไปกำหนดกัน ในอดีตจึงเป็นการเลือกประธานสภาในวันเดียวกับที่เสด็จมาเปิดประชุมรัฐสภา และเมื่อเลือกประธานรัฐสภาแล้วก็จะใช้เวลา 2-3 วันในการโปรดเกล้า ฯประธานสภา และหลังจากนั้นก็จะอยู่ในอำนาจของประธานสภาว่าจะเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อใด ซึ่งไม่มีกรอบระยะเวลา และไม่รู้ว่าทำได้ภายในกี่ครั้ง
ส่วนความสำคัญของประธานสภาแตกต่างกับอดีตหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่าเป็นความสำคัญในเชิงทางการเมือง ในเชิงกฎหมาย อาจมีนัยยะที่แตกต่างกัน แต่อำนาจหน้าที่ก็เหมือนเดิม
เมื่อถามว่า เมื่อรับรองส.สแล้วบทบาทการยื่นการตรวจสอบคุณสมบัติของส.สตามมาตรา 82 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ บุคคลใดจะสามารถดำเนินการได้บ้างเช่นกกต. จะยื่นได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ทุกรูปแบบ ให้ไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 170 และมาตรา 82 ซึ่งทั้ง ส.ส.ส.ว.และ กกต.สามารถยื่นได้ หลังจากมีการปฏิญาณตนในการเลือกประธานสภาชั่วคราว เนื่องจากหากไม่เลือกประธานสภาชั่วคราวก็ไม่สามารถเลือกประธานสภาตัวจริงได้ ซึ่งในวันนั้น ส.ส.ที่มีอายุมากที่สุดจะเป็นผู้นำปฏิญาณตน แต่หากใครไม่มาวันนั้นก็ให้มาปฏิญาณตนในวันหลัง
เมื่อถามว่า ในอดีต เคยมี ส.ส.เสียงข้างน้อย เสนอชื่อประธานสภาและได้รับการ รับเลือกให้เป็นประธานสภาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีนายอุทัย พิมพ์ใจชน แต่เป็น ส.สเสียงข้างมากเสมอ แต่นายอุทัยเป็นพรรคที่มีส.ส.เพียง 2-3 คนเท่านั้น ส่วนความเป็นไปได้ที่ส.ส.เสียงข้างน้อยจะมีการเสนอ อันนี้ตนไม่รู้ เป็นเรื่องของในสภา แต่หลักเกณฑ์ของการเลือกประธานสภาต้องใช้เสียงข้างมากของส.ส.ที่มาร่วมประชุม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ลงนามรับสนอง พระบรมราชโองการ ส่วนการเลือกประธานสภา จะต้องลงเปิดเผย และบางครั้งต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ด้วย แต่หากจะมีการประชุมลับกรณีมีคู่แข่งก็ต้องว่ากันไปตามข้อบังคับ
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาจะมีเผือกร้อนในเรื่องการยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธาลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบและไม่ขอตอบ
เมื่อถามว่าหากศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ของนายพิธา ในขั้นตอนโหวตนายกฯ ถ้าจะตัดตอน ประธานสภาจะทำให้จบในชั้นนี้หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ส่วนประธานสภาจะเว้นเรื่องนี้ไว้ก่อนเพื่อรอให้ศาลตัดสินหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่ควรไปแนะนำอะไรประธานรัฐสภาและยังไม่รู้เลยว่าเป็นใคร
เมื่อถามว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่มีเงื่อนไขเวลากำหนดไว้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี เป็นช่วงไหนก็ได้ เช้า ค่ำ ดึก ก็ได้
เมื่อถามว่า เลือกนายกฯแล้ว นายกฯตั้ง ครม. โปรดเกล้าฯ รัฐบาลชุดเดิมหมดวาระใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า โปรดเกล้าฯแล้วก็ยังต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ
"รัฐบาลชุดปัจจุบันถึงจะหมดวาระไป ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นสิงหาคม มันเร็วกว่าที่เราคิด แต่ผมคงไปตอบอะไรไม่ได้ เดี๋ยวไปลงข่าวให้อึกทึกครึกโครม เพราะผูกกับวันเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมสภา และ โปรดเกล้าฯประธานสภาเมื่อใด และประธานสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่ กี่รอบ กี่หน ซึ่งผูกโยงกันเยอะ แต่ เสนอครม.ในวันนี้ก็คือประมาณการไว้อย่างนี้ ซึ่งจะมีเงื่อนไขที่ควบคุมไม่ได้ และไม่ควรจะไปควบคุมด้วย" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ส.ว.จะเป็นกำแพงกั้นไม่ให้นายพิธาได้เป็นนายกฯนั้น ตนไม่ทราบว่าเป็นกำแพงหรือไม่แต่ ทราบจากข่าวว่าขณะนี้ดูดีขึ้น ก็ดีใจด้วย
ด้าน สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฏร เผยแพร่กรอบระยะเวลาดำเนินการสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ว่า ภายหลังจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขต 400 คน ตามมาตรา 85 วรรคสี่ แล้ว ในระหว่างวันที่ 20-24 มิ.ย. กกต.จัดให้มีการรับหนังสือรับรองการได้รับเลือกตั้ง ส.ส. และ วันที่ 20-25 มิ.ย. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร จัดให้มีการรายงานตัว ยื่นหนังสือรับรอง ส.ส. ทั้งนี้แม้จะพ้นกำหนดวันที่ 25 มิ.ย.แล้ว ส.ส. ก็ยังสามารถรายงานตัวต่อสำนักงานได้
ระหว่างวันที่ 19- มิ.ย.-3 ก.ค. จะมีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฏร เป็นครั้งแรก ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ซึ่งอาจเรียกประชุมรัฐสภา ครั้งแรก ก่อนครบ 15 วันก็ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 วรรคหนึ่ง)
ระหว่างวันที่ 4 -12 ก.ค. ให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ครั้งแรกภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเปิดสมัยประชุมสามัญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 วรรคสี่ ประกอบข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฏร พ.ศ.2562 ข้อที่ 19 (ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ทำการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏร และรองประธานสภา คนที่ 1 และ คนที่ 2 (ตามข้อบังคับการประชุมสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 5)
ทั้งนี้ วันที่ 4 ก.ค. คาดว่า เป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฏรครั้งแรก เพื่อทำการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏร และรองประธาน ทั้ง 2 คน ตามข้อบังคับการประชุม และวันที่ 10 ก.ค. ในกรณีมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่ตั้งประธานสภาผู้แทนราษฏร และรองประธานสภา ทั้ง 2 คน ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา (เทียบเคียงวันมาจากข้อมูลสภาผู้แทนราษฏร ชุดที่ 25) จากนั้น วันที่ 15 ก.ค.คาดว่า เป็นวันประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 (เทียบเคียงวันมาจากข้อมูลสภาผู้แทนราษฏร ชุดที่ 25)