"คำนูณ" มองก้าวไกลแก้ม.112 เปิดช่องให้วิจารณ์สถาบันมากขึ้น

"คำนูณ" โพสต์ข้อความ ปมแก้ม.112 ของ "ก้าวไกล" มุ่งลดการคุ้มครอง จนท.-ผู้ปฏิบัติงาน และเปิดช่องให้วิจารณ์สถาบันมากขึ้น

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ในหัวข้อ ประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ระบุความตอนหนึ่งว่า กำลังจะเปิดรัฐสภาแล้ว จะมีรัฐพิธีไม่เกินวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 โดยพรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ว่าจะเสนอร่างกฎหมาย 45 ฉบับภายใน 100 วันแรก หรือทันทีที่เปิดรัฐสภา โดยจะเสนอในนาม ส.ส. โดยมีเตรียมเสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สรุปภาพรวมคือ การลดระดับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปีนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข มีทั้งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ และบทจำกัดผู้ร้องทุกข์ ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 อันเป็นบทหลักมาตราแรกของหมวดพระมหากษัตริย์ หรือเสมือนเป็นการแก้รัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ทางประตูหลัง

นายคำนูณ ระบุด้วยว่า นี่คือประเด็นหลักที่จะกระทบระบอบ นอกจากนั้น ยังมีประเด็นแวดล้อมตามมาเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตราอื่นที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นบุคคลประเภทอื่นตามมาอีก 2 กลุ่ม 11 มาตรา โดยยกเลิก 2 เพิ่มเติม 4 แก้ไขเพิ่มเติม 5 คือ ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเซึ่งกระทำการตามหน้าที่หลือแค่โทษปรับ ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี เหลือแค่โทษปรับ, ขัดขวางการพิจารณาคดีหรือพิพากษาของศาล เหลือแค่โทษปรับ, หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท, หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท, ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา เหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

"เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยเฉพาะศาลหรือผู้พิพากษาขณะพิจารณาหรือพิพากษาคดี รวมทั้งบุคคลธรรมดา โดยเป็นการลดระดับการคุ้มครองบุคคลทุกประเภทลงจากเดิมด้วยการกำหนดโทษใหม่ที่ต่ำลงมาก ส่วนใหญ่จะเหลือแค่โทษปรับ ยิ่งถ้าในอนาคตนำระบบการคิดโทษปรับตามฐานะทางเศรษฐกิจ มาใช้ในระบบกฎหมายไทย ผู้กระทำความผิดที่มีรายได้นัอยหรือไม่มีรายได้จะยิ่งมีข้อต่อสู้ให้ได้รับโทษน้อยลงไปอีก ซึ่งสังคมไทยจะไม่เหมือนเดิม” นายคำนูณ ระบุ

นายคำนูณ ระบุด้วยว่า พรรคก้าวไกลจัดร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 อยู่ในกลุ่มคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยเลือกคุ้มครองเพิ่มมากขึ้นในสิทธิเสรีภาพของคนที่วิพากษ์วิจารณ์บุคคลทุกระดับ แต่กลับลดการคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพบุคคลทุกระดับที่ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายรวมทั้งบุคคลธรรมดาที่จะไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เป็นธรรมกลับอย่างมีนัยสำคัญ

TAGS: #คำนูณ #ม.112 #สถาบัน