เปิดขั้นตอนโหวตเลือก "นายกรัฐมนตรี" คนที่ 30 ของไทย ให้ขานชื่อแบบเปิดเผย ต้องได้คะแนนเสียง ส.ส.-ส.ว. 376 เสียงขึ้นไป
ภายหลัง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาระบุ กำหนดให้วันที่ 13 ก.ค. มีวาระเลือกนายกรัฐมนตรี นั้น
สำหรับขั้นตอนการเลือก "นายกรัฐมนตรี" คนที่ 30 มีดังนี้
1.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มี จำนวน ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป
2.สำหรับการเสนอชื่อแคนดิเดตของพรรค ต้องมี ส.ส. รับรอง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน
3.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการสภาฯ จะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ
4.ในที่ประชุมซึ่งมี ส.ส. 500 เสียง และส.ว. 250 เสียง รวมกันเป็น 750 เสียง ผู้ที่ได้คะแนน 376 เสียงขึ้นไป จะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ
5.ถ้าปรากฎว่า หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม หากนับจากจำนวน ส.ส.แต่ละพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา เกิน 25 คนขึ้นไป สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองได้ มีทั้งหมด 8 คน จาก 5 พรรคการเมือง มีดังนี้ พรรคก้าวไกล 1 คน พรรคเพื่อไทย 3 คน พรรคภูมิใจไทย 1 คน พรรคพลังประชารัฐ 1 คน และพรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 ฉบับปัจจุบันก็ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกฯไว้อย่างชัดเจน