ส.ว.ดิเรกฤทธิ์ ส่อกลับลำไม่โหวต"พิธา" เร่งกกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมถือหุ้นสื่อก่อนโหวตนายกฯอ้างจะได้ตัดสินใจถูก
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวว่า เรื่องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมส่งพยานหลักฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล(กก.) และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เรื่องถือหุ้นบริษัทไอทีวี นั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการโหวตเลือกนายกฯในที่ประชุมรัฐสภา อำนาจตรงนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา272 ที่ระบุว่า สมาชิกรัฐสภาต้องเลือกนายกฯจากผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาคือที่นายพิธา ถูกกล่าวหาอยู่ นายพิธา มีคุณสมบัติ ณ วันที่จะโหวตเลือกหรือไม่
ทั้งนี้องค์กรที่วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนต้นเรื่องคือผู้ร้องเรียน รวมทั้งส.ส. หากจะเข้าชื่อกันยื่นต่อศาลฯกรณีของผู้ร้องอื่นก็จะยื่นไม่ได้ ก็จะทำได้เพียงไปเสนอหลักฐานร้องเรียนกล่าวโทษกล่าวหา นายพิธา ต่อกกต. ฉะนั้น กกต. ถือเป็นหน่วยงานกลั่นกรองเบื้องต้น เหมือนพนักงานสอบสวนในคดีอาญา แต่คดีในรัฐธรรมนูญ กกต.รับเรื่องแล้ว ก็ควรจะตรวจหลักฐานว่าครบองค์ประกอบหรือไม่ ข้อกล่าวหามีพยานหลักฐานครบถ้วนหรือไม่เท่านั้นเอง ดังนั้นหน้าที่ของกกต.คือต้องรีบส่งศาลฯวินิจฉัย
“คิดว่าเป็นเรื่องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย นายพิธา จะถูกหรือผิด จะมีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามหรือไม่ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ การที่กกต.เอาเรื่องมากอดไว้ ตรงนี้ต้องพิจารณา และทำให้เร็ว เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อเปิดการประชุมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค. ที่มีวาระโหวตเลือกนายกฯ ผมคิดว่าจะทำให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เพราะจะมีคนยกมาตรา272ไปโยงกับมาตรา160 และมาตรา98 ซึ่งจะบ่งชี้ว่าเวลานี้ข้อยุติคืออะไร
สำหรับคนที่เลือกถ้าเลือกไปอาจขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับโครงสร้างของคดีที่บอกว่า ถ้ารู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติเรายังจะไปสมัคร ตรงนี้ก็มีความผิดมีโทษ ทำนองเดียวกัน ถ้านายพิธา ไม่มีหรือขาดคุณสมบัติ เรายังไปเลือก ก็อาจจะผิดรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงมีโทษทางอาญาด้วย ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะใช้ประกอบการตัดสินใจพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลฯรับเรื่องแล้ว ต้องสั่งเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เช่นถ้ามีการกล่าวหาว่ามีลักษณะต้องห้าม เป็นส.ส.ไม่ได้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้ ท่านจะต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ เพราะเห็นว่ามีการร้องว่าขาดคุณสมบัติ ซึ่งการขาดคุณสมบัติจะมีผลย้อนไปถึงวันเลือกตั้ง ฉะนั้นวิธีการของศาลฯจะต้องให้หยุดไว้ก่อนชั่วคราว ถ้าผลออกมาชนะก็ทำงานต่อได้ แต่ถ้าแพ้ การเป็นส.ส.จากการได้รับเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมาจะเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงกระบวนการไปสู่นายกฯก็เป็นโมฆะด้วย เช่นเดียวกับกรณีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แนวทางการพิจารณาของศาลฯก็เป็นไปไปแนวทางเดียวกัน
ขณะเดียวกันเมื่อถามถึงกรณีที่เคยออกมาระบุว่าจะโหวตให้กับผู้ที่มีเสียงข้างมาก แต่ขณะนี้นายพิธาถูกยื่นตีความเรื่องคุณสมบัติสมาชิกภาพส.ส. ยังยืนยันที่จะโหวตให้เหมือนเดิมหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า จุดยืนตนประกาศต่อสาธารณะ เราต้องประคับประคองประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
"ที่เคยประกาศบันได3ขั้นไว้ 1.ส.ส.รวมกันเป็นเสียงข้างมาก ในเมื่อสภาฯมีหน้าที่เลือกรัฐบาล เราควรสนับสนุน 2.ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่า2เดือนที่ผ่านมามีการร้องกล่าวโทษนายพิธา ถ้านายพิธา ไม่ผ่านคุณสมบัติ ผมก็เลือกไม่ได้ เพราะสุ่มเสี่ยงจะทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเองถือเป็นประเด็นสำคัญ ส่วนบันไดขั้นที่3ก็อาจไม่ต้องถกเถียงกันว่าจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่"นายพิธา กล่าว
ในส่วนการที่นายพิธา ถูกยื่นตีความจะมีผลต่อการพิจารณาของส.ว.หลายคนหรือไม่ นั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่มีผลต่อการพิจารณาของส.ว. แต่มีผลต่อการพิจารณาทั้งสภาฯ เพราะประเด็นนี้จะมีคนยกขึ้นมาได้ว่ามาตรา272เขาห้ามเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้าม ถ้าส.ส. ส.ว.ไปเลือก ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ จะทำผิดรัฐธรรมนูญ และต้องรับโทษเสียเอง ส่วนจะทำให้สถานการณ์ของรัฐสภาตึงเครียดหรือไม่นั้น เป็นไปตามกลไกกฎหมายที่ต้องเคารพ ขณะที่องค์กรใดที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาก็ต้องทำให้กระจ่าง ไม่มีเงื่อนตาย
อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า จะต้องมีการเลื่อนโหวตนายกฯในวันที่13ก.ค.หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา และสมาชิกทั้ง750คน จะเห็นประเด็นว่าถ้าเลือกแล้วไม่มีปัญหาทั้งสภาฯ ก็เดินต่อไปได้ แต่ถ้าเห็นว่าเลือกแล้วมีปัญหา ก็สามารถใช้มติของรัฐสภาในการเลื่อนได้ ถ้ามีเหตุผลจำเป็นเหมาะสม เพื่อประโยชน์การทำงานของประเทศ