สถานการณ์ "พิธา"ตอนนี้เชื่อว่ายังคงฝ่าด่านกำแพงส.ว.ยาก จากปมแก้ มาตรา112 รวมถึงท่าทีของพรรคก้าวไกล ที่เคลื่อนไหวในเชิงการกดดันมากกว่าพูดคุย
ลุ้นกันระทึก การโหวตเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค นี้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ "หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต้องการเพียง 376 เสียง จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 สถานการณ์ถึงนาทีนี้ "พิธา"ยังต้องลุ้นหนัก โดยเฉพาะเสียงส.ว. 250 เสียง ซึ่งยังไม่ชัดเจนจะโหวตให้ "พิธา"ถึง 65 เสียงหรือไม่
แม้พรรคก้าวไกล มั่นใจได้เสียงครบ "พิธา"ได้เป็นนายกฯรอบแรก แต่ล่าสุดมีการเช็กจุดยืนเสียงส.ว. พบว่า คนที่ประกาศจะโหวต "พิธา"อย่างชัดเจน เหลือเพียง 10 คนเท่านั้น จากเดิมที่ได้ประกาศก่อนหน้านี้ประมาณ 20 คน และมีการประเมินแนวโน้ว เสียงของส.ส.ส่วนใหญ่ ถึง 90 % จะงดออกเสียง ซึ่งการงดออกเสียงดังกล่าว เท่ากับ ส.ว.มีเจตนาไม่โหวตให้ "พิธา"เป็นนายกฯ
ทั้งนี้ ส.ว.ที่ประกาศจุดยืนโหวตให้ "พิธา"เป็นนายกฯเบื้องต้น 10 คน ประกอบด้วย 1.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 2.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ 3.นายทรงเดช เสนอคำ 4.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 5.นายวันชัย สอนศิริ 6.นายมณเทียร บุญตัน 7.นางประภาศรี สุฉันทบุตร 8.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 9.นายพิศาล มาณวพัฒน์ 10.นายพีระศักดิ์ พอจิต ส่วนจะมีเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ต้องรอลุ้นกัน เพราะเวลานี้ส.ว.ต้องการปิดปาก ไม่อยากตกอยู่ในกระแสไล่ล่าทั้งจากฝ่ายผู้สนับสนุนและคัดค้าน "พิธา"
ทว่าในรอบแรกของการโหวตนายกฯ "พิธา"ไม่ต้องแข่งนายกฯกับใคร เนื่องจากพรรคฝ่ายค้าน ได้แสดงท่าทีชัดเจนไม่ส่งคนมาชิงเก้าอี้นายกฯพร้อมประกาศไม่สนับสนุนการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
ในขณะเดียวกัน "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศวางมือทางการเมือง ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจทำให้มีการปลดล็อก ส.ว.บางส่วนที่ยังมีเยื่อใยและเกรงอกเกรงใจ "บิ๊กตู่" กลับใจหันมาโหวต "พิธา" บ้าง ไม่มากก็น้อย สถานการณ์เวลานี้ จึงทำให้ "พิธา"ต้องแข่งกับตัวเอง ในการทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ ส.ว.ไว้วางใจเพิ่มขึ้น แต่ถึงตอนนี้เชื่อว่า ยังคงฝ่าด่านกำแพงส.ว.ยาก จาก ปมแก้ มาตรา112 รวมถึงท่าทีของพรรคก้าวไกล ที่เคลื่อนไหวในเชิงการกดดันมากกว่าพูดคุย
สำหรับเสียงในส่วนของฝั่งส.ส."พิธา" มีอยู่ 312 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 151 พรรคเพื่อไทย 141 พรรคประชาชาติ 9 พรรคไทยสร้างไทย 6 พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 พรรคเป็นธรรม 1 พรรคเสรีรวมไทย 1 พรรคพลังสังคมใหม่ 1 ซึ่งทุกพรรคต่างยืนยันโหวตหนุน "พิธา" แต่ทว่าในทางปฏิบัติ ประธานสภาอาจจะต้องงดออกเสียงเพื่อแสดงความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งหาก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ต้องงดออกเสียงจะทำให้ เสียงรัฐบาลลดเหลือ 311 เสียง ก็จะต้องไปหาเสียงเพิ่มอีกจากส.ว.คือต้องได้ 65 เสียง
ขณะที่ฝ่ายค้านมีทั้งหมด 188 เสียง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1เสียง พรรคใหม่ 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย1 เสียง และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง ประกาศไม่โหวตให้ "พิธา"เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งในรูปแบบการโหวตไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง
อย่างไรก็ตามหาก "พิธา"ไม่ผ่านรอบแรก คือไม่ได้เสียงสนับสนุนถึง376 เสียงขึ้นไป โอกาสของ "พิธา"ก็ยังไม่ได้ปิดลง เพราะต้องมีการเลือกนายกฯรอบสองต่อไป โดยได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วในวันที่19 ก.ค.นี้ แต่ต้องดูในรายละเอียดคะแนน หรือปัจจัยแปรผันทางการเมืองขณะนั้น รวมถึงต้องรอดูทีท่าของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย จะถือโอกาสขอจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคอันดับสองหรือไม่ การเมืองนับจากนี้ไปต้องมองกันช็อทต่อช็อต