ชีวิตเส้นทางเมืองของ "พิธา"แขวนบนเส้นด้าย ต้องลุ้น2คดีสำคัญ "ถือหุ้นสื่อ -นโยบาย112" ในมือ9ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เส้นทางการเมืองของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นั้น อยู่ในมือ 250 ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) แต่ทว่า ชะตาชีวิตบนเส้นทางการเมืองของ "พิธา" ในเวลานี้ น่าจะอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมี 2 คดีสำคัญ ที่จะเป็นตัวตัดสินอนาคต "พิธา" ว่าจะอยู่บนเส้นทางการเมืองต่อไปหรือไม่
คดีแรก เป็นกรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ศาลพิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
โดยคดีนี้หาก "พิธา"ผิดจริงอาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และอาจเลยไปถึงการยุบพรรคก้าวไกลอีกด้วย
คดีที่สอง "คดีหุ้นสื่อ" ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วย
แน่นอนว่ากรณีนี้ย่อมส่งผลต่อการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี "พิธา" ไม่มากก็น้อย ในส่วนของส.ว.ที่จะใช้เป็นเหตุผลในการไม่โหวตให้
อย่างไรก็ตามคดีนี้สํานักงานศาลรัฐธรรมนูญลงรับคําร้องในทางธุรการแล้ว แะจะได้นําเสนอ คําร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และคาดว่าคงไม่เกินวันที่ 19 ก.ค.นี้คงจะมีคำตอบ
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง9คน ผู้กุมชะตาการเมือง "พิธา"ทั้ง 9 คน มีประวัติผลงานสังเขปดังนี้
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) ม.ธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.ราม คำแหง (กฎหมายมหาชน) เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เคย วินิจฉัยให้ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และเป็น1ใน เสียงข้างมากที่มีมติให้ ยุบพรรคอนาคตใหม่
2.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ จบรัฐศาสตรบัณฑิต การเมืองการปกครอง ม.ธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 และอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, PH.D. (INTERNATIONAL STUDIES) WASEDA UNIVERSITY ประเทศญี่ปุ่น
นายนครินทร์ เป็นตุลาการเสียงข้างมากที่ มีมติเสียงข้างมากให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดสภาพความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ จากกรณีถือครองหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 รวมถึงมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่
3.นายปัญญา อุดชาชน จบ ศิลปศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง, นิติศาสตรบัณฑิต ม.สุโขทัยธรรมาธิราช, นิติศาสตรมหาบัณฑิต กฎหมายมหาชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, M.A. (Public Administration), Michigan สหรัฐอเมริกา, Ph.D. (Public Administration), California สหรัฐอเมริกา, นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต กฎหมายมหาชน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
4.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสบการณ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 5
ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รองประธานศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา
5.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสบการณ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา, รองประธานศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
6.นายจิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) ปริญญาโททางกฎหมาย (LL.M.) Harvard Law School สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2521
ปริญญาเอกทางกฎหมาย (S.J.D.) George Washington University สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2525 ประสบการณ์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 2, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, ผู้พิพากษาศาลฎีกา
เคยเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาและแพ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คนสนิทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และอดีตที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ
7.นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) ประสบการณ์ เป็นอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกและแอฟริกา แล้วออกไปเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (กรุงไคโร) จนถึงปี 2553 เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำนิวซีแลนด์ (กรุงเวลลิงตัน) แล้วเข้ามาเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระยะหนึ่งก่อนออกต่างประเทศ ครั้งสุดท้ายเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เวียงจันทน์)
8.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จบการศึกษาปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) ม.เชียงใหม่ ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) ม.รามคำแหงเคยดำรงตำแหน่งแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัด และผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กระทรวงแรงงาน ก่อนมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้นเมื่อปี 2544 จากนั้นดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ปี 2552 และดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ปี 2555 กระทั่งรับดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ปี 2561
9.นายอุดม รัฐอมฤต นิติศาสตรบัณฑิต ธรรมศาสตร์ นิติศาสตรมหาบัณฑิตธรรมศาสตร์ ประสบการณ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี2560 คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์