93 สหภาพแรงงาน เรียกร้อง ส.ว. โหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ ตามฉันทามติเสียงข้างมาก ตอกย้ำหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ก่อนการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งสหภาพแรงงาน เครือข่ายนักศึกษา ภาคเอกชน ต่างออกมาแสดงจุดยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ว. ชุดปัจจุบันซึ่งมีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 โหวตเลือกพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเคตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ คนที่ 30 ตามฉันทามติเสียงข้างมากของประชาชนที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม
โดยสหภาพแรงงาน จำนวน 93 สหภาพ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ใจความสำคัญว่า พวกเราแรงงานจากสหภาพแรงงาน ในฐานะประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ขอแสดงจุดยืนเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สนับสนุนตัวแทนจากพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามหลักการประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ในจำนวน 93 สหภาพแรงงาน ประกอบด้วยคนทำงานจากหลากหลายวงการ อาทิ สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ สหภาพพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน สหภาพไรเดอร์ สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) สภาองค์การลูกจ้างอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน สหภาพเภสัชผู้ปฏิบัติงาน กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก เป็นต้น
ส่วนในภาคเอกชน เช่น สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย สมาพันธ์อัญมณีเครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์สมาคมดิจิตอล คอนเทนต์บันเทิงไทย ออกจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนให้ ส.ว. เลือกนายกฯ จากพรรคที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากเป็นอันดับหนึ่ง สนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความชอบธรรมในการบริหารประเทศและเป็นที่ยอมรับตามระบอบประชาธิปไตย เคารพและเชิดชูเจตจำนงของประชาชน ตอกย้ำหลักการ ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ และธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของรัฐสภาไทย
ความตอนหนึ่งในจดหมายเปิดผนึกระบุด้วยว่า “หากท่านเห็นว่าประเด็นหนึ่งประเด็นใดซึ่งประชาชนได้ให้ฉันทานุมัติแก่ผู้แทนของพวกเขาให้เข้ามาดำเนินการขับเคลื่อนผ่านระบบรัฐสภาโดยชอบธรรม ขัดแย้งกับความคิดความเชื่อและหลักการส่วนบุคคลของท่าน ขอได้โปรดรอใช้อำนาจในฐานะสมาชิกวุฒิสภาเมื่อท่านพิจารณาร่างกฎหมายใด ๆ ซึ่งเดินทางตามขั้นตอนมาสู่วุฒิสภาในอนาคต”
ขณะที่เครือข่ายนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ ก็ออกมาเรียกร้องต่อ ส.ว. เช่นกัน เช่น กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม จ.เชียงใหม่, กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง, เครือข่ายนักเรียนนักศึกษา จ.น่าน, กลุ่มแม่สอดต้านเผด็จการ จ.ตาก, ชมรมนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย, กลุ่ม NU-Movement ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก, ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กลุ่มนักเรียนเลว, นักเรียนสวนกุหลาบ เป็นต้น
โดยทุกกลุ่มล้วนเรียกร้องให้ ส.ว. เคารพเสียงของประชาชน โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงส่วนใหญ่เพื่อจัดตั้งรัฐบาลมาแก้ปัญหาให้ประชาชนได้เร็วที่สุด แม้ว่า ส.ว. จะมาจาก คสช. ไม่ได้มาจากปวงชนชาวไทย แต่ถ้าฟังเสียงปวงชนชาวไทย ก็ยังพอจะถือว่าเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยได้ แต่ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากปวงชนชาวไทยแล้ว ยังไม่ฟังเสียงปวงชนชาวไทยอีก จะยังเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยต่อไปได้อย่างไร
ขณะที่เพจ ‘นักเกรียนสวนกุหลาบ’ เผยแพร่บทกลอนที่แต่งขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ ส.ว. ที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จำนวน 12 คน ตัดสินใจโหวตนายกฯ โดยรักษาคุณค่าประชาธิปไตย นึกถึงอนาคตของประเทศ เพื่อให้วิกฤติการเมืองของประเทศผ่านพ้นไปได้ ให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
นอกจากนี้ ยังมีภาคประชาสังคม เช่น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์, พลอย หอวัง นักแสดง, ไหมไทย หัวใจศิลป์ ศิลปินลูกทุ่ง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพเสียงของประชาชน เพื่อให้ประชาธิปไตยของประเทศเดินหน้าต่อไป