ทางออกประเทศต้องก้าวข้ามความขัดแย้งสู่การแข่งขันเชิงนโยบาย 

ทางออกประเทศต้องก้าวข้ามความขัดแย้งสู่การแข่งขันเชิงนโยบาย 
ถ้าอยากตอบโจทย์ประเทศอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ภาคส่วนอื่นๆ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชน ต้องพยายามตั้งโจทย์สำคัญให้นักการเมืองตอบในช่วงของการเลือกตั้ง

หมายเหตุ*นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าว THE BETTER ถึงมุมมองแนวทางการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยมีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้

*****************

ในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “อภิสิทธิ์” มอง ว่า ต้องเริ่มต้นจากท้าทายกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ก่อน ปัญหาเฉพาะหน้าในมุมของเศรษฐกิจ เราเคยคาดหวังพอโควิด19 เริ่มซาลงจะฟื้นกลับมาได้เหมือนเดิม ข้อเท็จจริงทำให้เห็นแล้วว่าโควิด19 ไม่มีวันหมดไป จะมารบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคน 

นอกจากเรื่องโควิดแล้วปี 2565 ยังมีเรื่องสงครามมาทำให้เกิดปัญหาเรื่อง อาหาร พลังงาน นำมาสู่เรื่องของภาวะเงินเฟ้อ ตามมาด้วยนโยบายของสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาเพื่อกดดัน ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย แค่ปัญหาพวกนี้วิกฤตที่เรามองว่าจะคลี่คลายภายใน 2-3 ปี มันก็จะยืดเยื้อออกไปอีก 

ฉะนั้นเศรษฐกิจก็จะหยุดชะงัก ประเทศคู่ค้าของเรา ส่วนใหญ่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2566 น่าจะต่ำกว่าปี 2565 ขณะเดียวกันภาครัฐที่กระตุ้นการสนับสนุนก็ถูกกดดัน ด้านการเงินก็ถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นในต่างประเทศ ด้านการคลังก็จากการขยายหนี้สาธารณะไปแล้วรอบนึง และไม่มีวี่แววลดการขาดดุลทางการคลังได้ 

มาตรการหลายอย่างที่ต้องช่วยเหลือประชาชนก็ต้องถอนออกมา แต่สิ่งสำคัญกว่าคือเรื่องที่มันเป็นปัญหาระยะกลาง ระยะยาว อันแรกคือเราสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันในทางเศรษฐกิจไปมากพอสมควร เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน เราเป็นประเทศสุดท้ายที่จะกลับคืนสู่ระดับรายได้ก่อนโควิด และอัตราการเจริญเติบโตของเราค่อนข้างจะต่ำที่สุดในภูมิภาค เรามีปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรซึ่งเฉลี่ยมีอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุในเรื่องสุขภาพ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมาก 

ขณะเดียวกันก็มีปัญหาเรื่องความยากจนที่เพิ่มความรุนแรงในช่วงโควิด เราอยากจะได้ระบบสวัสดิการเพื่อมาตอบโจทย์ในทางรายได้ทางอาชีพ แต่ว่ารัฐจัดเก็บรายได้เพียงร้อยละ13 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม  ซึ่งไม่เคยเห็นที่ไหนรัฐเก็บรายได้ในสัดส่วนแบบนี้ แล้วสามารถสร้างระบบสวัสดิการได้ เพราะฉะนั้นหลายเรื่องมันประเด็นของโครงสร้าง แล้วแนวโน้มปัญหาเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามารบกวน การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องของโลกร้อนที่เข้ามาสร้างปัญหาหลายอย่าง ที่มีผลกระทบไปถึงภาคการเกษตรไปถึงการกีดกันทางการค้า ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่เราเผชิญูอยู่ ซึ่งไม่มีคำตอบง่ายๆมีแต่คำตอบที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้าง

#ปลุกตั้งโจทย์ให้พรรคการเมืองแสดงจุดยืนช่วงเลือกตั้ง

ปัญหาคือเราจะสามารถทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคือภาคการเมืองกับภาคราชการ มาจับประเด็นตรงนี้ได้ไหม ซึ่งจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ตัวอย่าง เช่น การที่เราปล่อยให้การกระจุกตัวของเศรษฐกิจหรืออำนาจการผูกขาดเพิ่มขึ้น นับวันก็ยิ่งทำให้หน่วยงานต่างๆจะเข้าไปแตะโครงสร้างเหล่านี้ เพราะต้องไปพึ่งพาทุนในการขับเคลื่อนหลายๆอย่างแบบนี้

ข้อแรกคือยังเป็นการเมืองที่ค่อนข้างแบ่งขั้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะพูดถึงเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย ความเป็นเผด็จการ อีกฝ่ายก็พูดถึงเรื่องความไม่มั่นใจในสถาบันหลักถูกคุกคามไหม หรือสภาวะทางการเมืองของบางพรรคกลับกลายเป็นวาระส่วนตัวหรือครอบครัว ยังไม่พูดถึงว่าหลายปีที่ผ่านมาอิทธิพลของเงินกับการเมืองกลับเพิ่มสูงมากขึ้นไปอีก

"ถ้าอยากตอบโจทย์ประเทศอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าภาคส่วนอื่นๆ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชน ต้องพยายามตั้งโจทย์สำคัญให้นักการเมืองตอบในช่วงของการเลือกตั้ง ถ้าเราสามารถบังคับให้นักการเมืองแสดงจุดยืนก็จะเป็นส่วนช่วยให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปทำเป็นนโยบายต่อไป"

อย่างไรก็ตามโดยพื้นฐานของประเทศไทยมีจุดแข็งมากมาย มีภาคการเกษตร ถ้ามีการปฏิรูปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยังคงสร้างความมั่นคงทางอาหาร ยังเป็นผู้เล่นสำคัญ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลกด้วยซ้ำ เรามีฐานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว จากยานยนต์ก็ต้องปรับไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า จากอิเล็กทรอนิกส์ต้องไปสู่การทำทำธุรกิจที่อิงไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ

เราเป็นประเทศที่เติบโตมาจากการส่งออกท่องเที่ยว การเชื่อมโยงกับโลก เพราะฉะนั้นใช้ความสามารถพื้นฐานและประสบการณ์เหล่านี้ มาขับเคลื่นต่อไปได้ ถ้าสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เป็นส่วนหนึ่งของเอเปค เราเป็นมิตรทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย และพึ่งฟื้นความสัมพันธ์กับ ซาอุดิอาระเบีย มีทิศทางที่จะเชื่อมโยงกับทางอินเดียมากขึ้น พื้นฐานเหล่านี้มันเพียงพอที่จะทำให้เราพลิกได้ แต่ต้องการนำในเชิงนโยบาย การนำทางการเมือง และการทำให้การทำงานของภาครัฐมาตอบโจทย์การทำงานตรงนี้ 

# ไม่แก้รธน.272 สร้างเงื่อนไขเลือกแลนด์สไลด์สู้ส.ว.

“รู้สึกเสียดายบางส่วนในรัฐบาลนี้ ไปมองกติกาบางส่วนที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายตัวเอง เพื่อความได้เปรียบ คือการเก็บ มาตรา 272(ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ)ของรัฐธรรมนูญไว้ การไม่มีความชัดเจนที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ตามเสียงเรียกร้องต่างๆ เพื่อเปิดโอกาส ให้การสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ๆ มันจึงทำให้ประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขในการต่อสู้ของการเลือกตั้ง แต่ถ้าเราถอด 272 ออก ก็ไม่ต้องมาหาเสียงว่ามีการแลนสไลด์ เพื่อไปสู้กับเสียง สว.จะได้มาแข่งขันเรื่องเศรษฐกิจเรื่องสังคมแทน" 

ทั้งนี้เมื่อถามว่า สมมุติว่า ถ้าคุณอภิสิทธิ์ มีอำนาจวันนี้จะทำอย่างไร  "อภิสิทธ์" บอกว่าถ้ามีอำนาจวันนี้ จะแก้สองสิ่ง หนึ่งแก้รธน.มาตรา 272 และการให้มี สสร.ไปทำประชามติวันเลือกตั้งเลย  เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อมาตั้งต้นกันใหม่ อีกประเด็นคือเรื่องปัญหาที่เราเผชิญปัญหาอยู่ นำเรื่องพวกนี้มานำเสนอเพื่อมาแข่งขันกันทางความคิด ให้การเมืองเป็นเรื่องแบบนี้ 

สำหรับนโยบายพรรคการเมืองนั้น เขาต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน เพียงแต่ตอนนี้มีการแข่งขันแบบการแบ่งขั้ว มีปัญหาการใช้เงินซื้อเสียง เรื่องทุนเรื่องการแย่งตัว ส.ส. นโยบายเลยออกมาเป็นเรื่องๆ เช่น เรื่องบำนาญของประชาชนความจริงเริ่มมาจาก นโยบายเบี้ยยังชีพไปจนถึงกองทุนการออม สุดท้ายทุกคนจะแข่งขันกันที่บำนาญประชาชน 3,000 บาท อีกคนมาบอกให้มากกว่านี้ แต่ไม่มีคำตอบที่สิ่งนี้จะนำไปสู่สวัสดิการที่เป็นหลักประกันในยามชราภาพ ที่ทุกคนมั่นใจได้ว่ารัฐมีเงินที่จะจ่าย หรืออาจมีการเสริมจากโครงการที่ออมภาคบังคับในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

" จะบอกว่าพรรคการเมืองเขาไม่มาสนใจมันไม่ใช่หรอก เขาก็สามารถหยิบปัญหาต่างๆ ได้ หรืออย่างภาคการเกษตรวันนี้อยากปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แต่การหาเสียงก็จะวนเวียนอยู่ที่ข้าวจะราคาเท่าไร"

"อภิสิทธิ์"ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองว่า ส่วนหนึ่งก็จะคลี่คลายไปบางปม ผ่านไปกับการเวลา ผ่านไปกับการเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง อย่างวันนี้ก็มีคนพูดว่าหลังการเลือกตั้งอาจจะได้เห็นพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐอยู่ด้วยกันก็ได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าตราบใดที่ปมความขัดแย้งพื้นฐานมันยังไม่ได้แก้ไข บางเรื่องก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีคุณทักษิณกับครอบครัว หรือว่าเรื่องการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติขึ้นเป็นประเด็นทางการเมืองแล้ว จะคลีคลายกันยังไง ถ้าไม่มีคนพยายามสร้างเวที เพื่อเอาเรื่องเหล่านี้มาคลี่คลายอย่างเป็นระบบ

"ที่สำคัญถ้าเมื่อไรที่ใครเป็นรัฐบาลคิดว่าการมีอำนาจ การมีกฏหมายอยู่ในมือ อำนาจรัฐหรือแม้แต่การไปก้าวล่วงองค์กรอิสระในการตัดสินเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง ถ้ามีการทำแบบนี้อยู่ความขัดแย้งไม่มีวันหมด ก็ต้องมาสะสางตรงนี้ให้ได้ว่าใครต้องการที่มีอำนาจแล้วต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเสียงข้างน้อย ต้องพร้อมนำปมปัญหาที่คิดต่างกันมาบริหารบนเวทีให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หลีกเลี่ยงความเกลียดชัง แบบนี้จะค่อยๆลดความขัดแย้งทางการเมืองไปได้ในที่สุด"

#เชื่อหลังเลือกตั้งได้รัฐบาลผสม

ในส่วน เรื่องการนิรโทษกรรมทางการเมืองนั้น ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ชัดๆ คือการละเมิดกฎหมายพิเศษต่างๆ อันนี้ก็ของช่วยได้ แต่วันนี้อย่าลืมว่าปัญหามันเคลื่อนมาอีกระดับหนึ่ง เพราะวันนี้คนที่เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมก็ยังมีข้อยกเว้นอย่างเช่นกรณีของมาตรา 112 ก็จะถูกหยิบมาเป็นปมอีก 

ทั้งนี้ประการแรกต้องเห็นความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ ประการที่สอง งานยากอย่างนี้ต้องแสวงหาความร่วมมือ จากทุกฝ่ายและ ประการที่สามเราเองอาจจะให้ความสำคัญน้อยเกินไปหลายปัญหา จะแก้ง่ายขึ้นถ้าเราเดินบทบาทในทางการต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้น เพราะว่าไปแล้วปัญหาของมนุษย์ทุกวันนี้เกือบทุกประเทศมันเป็นปัญหาที่มีมิติของปัญหาต่างประเทศมาทับซ้อนอยู่แล้ว แต่ว่าหลายครั้งเราก็เกือบจะเรียกได้ว่าหลับหูหลับตา ต่างคนต่างแก้ไปแล้วกัน

อภิสิทธิ์ ยังมองถึงความหวังในการแก้ปมปัญหาหลังการเลือกตั้งว่า ต้องตั้งความหวังกับกระบวนการเลือกตั้งก่อนว่าอย่างน้อยต้องบังคับให้พรรคการเมืองต่างๆมีท่าทีตระหนักถึงประเด็นสำคัญของประเทศ เราก็อยากให้ทุกอย่างมัน ก้าวข้ามความขัดแย้ง ไปสู่การแข่งขันเชิงนโยบาย แต่ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ดูแล้วไม่ค่อยเอื้อให้เกิดขึ้นเพราะแบบนี้ประชาชนคงต้องรับภาระมากขึ้น

"ผมจะไม่พูดว่าเราไม่มีหวัง เรามีหวังเสมอ ต้องบอกนิดนึงว่าเราจะไปโทษใครก็ไม่ได้เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจริงๆในรอบ 10 ปี 20 ปี ก่อนหน้านี้ประเด็นในเชิงโครงสร้างมันไม่รุนแรงเท่านี้เพราะฉะนั้นเราก็จะมีความรู้สึกว่าการเมืองมาจากวุ่นวาย การเมืองมันจะเปลี่ยนแปลงบ่อย การเมืองมันจะไม่นิ่งก็ไม่ค่อยเป็นไร เพราะว่าตัวโครงสร้างมันไปได้ ถ้าธุรกิจเอกชนเขาก็บอกว่าไม่ขออะไรมากแค่อย่ามาเกะกะวุ่นวายมากนัก แต่วันนี้มันไม่ใช่ วันนี้มันมีความจำเป็นจะต้องการนำในเชิงนโยบายทางการเมืองเพื่อปรับโครงสร้างเพื่อให้เรากลับมาแข็งแรงแข่งขันได้เพราะฉะนั้นโจทย์มันเปลี่ยนเราก็ต้องทำการเมืองให้เปลี่ยนตาม"

สำหรับรัฐบาลหลังการเลือกตั้งโอกาสจะเป็นรัฐบาลผสมค่อนข้างสูงเราก็อยากจะเห็นรัฐบาลผสมที่เป็นเอกภาพและมีความชัดเจนในเชิงความคิดร่วมกันมากกว่าการแบ่งผลประโยชน์กัน

ในส่วนความขัดแย้งมันไม่มีทางหมดไป แต่ว่าความขัดแย้งหรือว่าความต่างทางความคิดมันจะมาช่วยทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้บนกติกาที่เคารพสิทธิและพื้นที่ของกันและกัน มันจะไปหวังให้คนคิดเหมือนกันมันเป็นไปไม่ได้และคิดเหมือนกันหมดก็ไม่ได้เป็นผลดี ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่เพราะว่าการคิดต่างจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้แต่เพียงว่าจะทำอย่างไรความแตกต่างไม่ต้องเป็นความเกลียดชัง และผู้มีอำนาจก็ต้องให้พื้นที่กับผู้ที่คิดต่างคิดต่างก็ต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงความเกลียดชัง

TAGS: #อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ #เลือกตั้ง66 #แก้รธน. #ตัดอำนาจส.ว. #การเมือง