"อดุลย์" หวั่นการจัดตั้งรัฐบาลนำไปสู่ความขัดแย้งนองเลือด ชงตั้ง“รัฐบาลช่วยชาติ” ดัน “ประวิตร”เป็นนายกฯ แล้วออกกฎหมายเพื่อความสมานฉันท์ นิรโทษกรรมคดีการเมือง ปฏิรูปประเทศทุกด้าน 2 ปี ยุบสภา
นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 อดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ ว่า ผลการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่เหนือความคาดหมาย เพราะรู้กันดีอยู่แล้วว่าสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จะไม่โหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ได้เสียงตามเป้าหมาย ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความแตกแยกทางการเมือง เนื่องจากพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เมื่อมีการสลับขั้วก็จะเกิดการชุมนุมต่อต้านจากอีกฝ่าย หากปล่อยให้ดำเนินการไปเช่นนี้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นนองเลือดอีก จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องรอมชอมสามัคคีกัน เพื่อทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน เพระทุกพรรคการเมืองมีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน ขั้วรัฐบาลเดิมก็ล้าหลังประชาชนไม่ยอมรับ ขั้วรัฐบาลใหม่ก็สุดโต่งและสุ่มเสี่ยงนำไปสู่ขัดแย้ง จึงควรเอานโยบายที่เหมาะสมจากทุกพรรคการเมืองมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง และเชิญบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถจากทุกพรรคมาร่วมกันเป็น ”รัฐบาลช่วยชาติ” โดยไม่ยึดติดโควตา
“การมองสถานการณ์การเมืองไทยต้องอยู่บนโลกความเป็นจริง อย่าโลกสวยเพ้อฝันเกินความเป็นจริง เมื่อพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะโหวตอีกรอบก็ไม่ได้อยู่ดี พรรคอันดับสองคือเพื่อไทย ก็มีความชอบธรรมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่หากคนของเพื่อไทยจะเป็นนายกฯเอง ส.ว.ก็คงไม่โหวตให้อีก จึงเหลือทางเลือกสุดท้ายคือสลับขั้วมาจับมือกับ พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคภูมิใจไทย ร่วมเป็นแกนนำ โดยให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าจะได้รับเสียงโหวตจากส.ว.จนครบ และเพื่อให้สามารถเริ่มกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ในสังคมได้ทันที ตามแนวทาง ก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยออกกฎหมายเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ส่วนคดีที่เกี่ยวกับ ม.112 เป็น พระราชอำนาจ ซี่งพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าอยู่แล้ว จากนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย ปฏิรูปประเทศทุกด้าน เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์สงบเรียบร้อยภายใน 2 ปี ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่ทั้งนี้หากไม่มีการปฏิรูปประเทศ ความขัดแย้งก็จะขยายตัวอีก มีแต่หนทางนี้เท่านั้นที่จะนำพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งและสร้างความสมานฉันท์ได้” นายอดุลย์ กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้สติพิจารณามากกว่าใช้ความรู้สึกหรือกระแส ให้ความสำคัญแก่ประเด็นความเป็นธรรมาภิบาลในสังคมและการปฏิรูปประเทศเพื่ออนาคต มากกว่าการลดแลกแจกแถมหรือ นโยบายประชานิยม เป็นการลงโทษพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อยากจะอยู่ยาว จนสร้างความเดือดร้อนแสนสาหัส ทำให้ประเทศล้าหลัง คนรุ่นใหม่ไร้ซึ่งอนาคต ประชาชนจึงอยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้น เนื่องจาก 9 ปีที่พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจไม่ได้ปฏิรูปบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลัง ความเหลื่อมล้ำจึงขยายตัวทุกด้านมากกว่าเดิม แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ที่ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกพรรคก้าวไกล ซี่งมีทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคก้าวไกลทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
“จึงขอเตือนพรรคก้าวไกลให้ระมัดระวังในเรื่องการปลุกกระแสความเกลียดชัง แบ่งฝ่าย เลือกข้าง สร้างความแตกแยก จะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและส่วนรวม ยิ่งเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังเคารพศรัทธา และขอฝากฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องปรับตัว อย่าฝืนกระแสการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาของคนรุ่นใหม่แล้ว อย่าลืมว่ากาลเวลาเป็นผู้ชนะเสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆต้องคำนึงถึงประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย จะเดินตามชาติตะวันตกที่ไม่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ อย่าหักโหม หักด้ามพร้าด้วยเข่า จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาอีก เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องใช้เวลา ไม่ใช่แค่ยุคนี้ ทั้งนี้คนไทยอย่าคิดแบบโลกสวย ต้องมองความจริงที่ปฏิบัติได้ด้วย ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผล มีความสามัคคีสมานฉันท์ ”นายอดุลย์ กล่าว