"เสรี" ตำหนิ "ผู้ตรวจการฯ" ไม่มีสิทธิยื่นศาลรธน.สอบมติรัฐสภา ซัดอย่าทำงานตามกระแส 

"เสรี" ตำหนิ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" กลางที่ประชุมวุฒิสภา ชี้ ไม่มีสิทธิยื่นศาลรธน. ตรวจสอบมติของรัฐสภา หวั่นประสิทธิภาพการทำงานอนาคต หลังพบทำงานตามกระแส-กลัวทัวร์ลง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.​อภิปรายต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวาระรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564  ตอนหนึ่ง โดยตำหนิการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่รับคำร้องของประชาชน  17 คำร้อง และยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการประชุมรัฐสภา เมื่อ  19 กรกฏาคม ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้สั่งให้รัฐสภาหยุดการเลือกกนายกฯ ไปจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ตนมองว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวด้วยซ้ำ  และข้อมูลที่ยื่นดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลด้านเดียว ที่ระบุเหมือนกับคณาจาย์ 115 คนที่ให้ข้อมูลผิดๆ และสร้างความสับสน ว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ41 นั้นใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้นไม่ใช่ และการพิจารณาของรัฐสภา เมื่อ 19 กรกฏาคม นั้นคำถามที่เกิดขึ้นในที่ประชุมชัดเจน ว่าเป็นประเด็นการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่ไม่ผ่านความเห็นชอบซ้ำได้อีกหรือไม่ 

“ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนและเน้นประเด็นว่าข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ทำให้สังคมเข้าใจผิด สับสน ทั้งที่รายละเอียดของการประชุมนั้นไม่ใช่ อีกทั้งยังมีคนวิจารณ์ประธานรัฐสภาเสียๆ หายๆ ว่าไม่กล้าตัดสินใจทั้งที่ประธานรัฐสภาทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับแล้ว ดังนั้นผมขอให้เอาข้อมูลไปบอกกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินว่าสิ่งที่ทำนั้่นไม่ครบถ้วน และสิ่งที่ทำนั้นท่านไม่มีสิทธิยื่นด้วยซ้ำ” นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวด้วยว่า แต่เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินทำไปแล้ว อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตนไม่ก้าวล่วง แต่ตนเป็นห่วงการทำงานหลังจากนี้ว่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ คุ้มค่ากับงบประมาณที่จัดสรรให้แต่ละปีหรือไม่   การทำงานต้องไม่ทำตามกระแส หรือมีคนยื่น 17 เรื่องเป็นกระแสกดันให้ต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตนเข้าใจว่าอาจกลัวทัวร์ลง แต่การทำงานต้องมีมาตรฐาน เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและยึดมั่นรัฐธรรมนูญที่แบ่งอำนาจหน้าที่ไว้ เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

“เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ในสภา ใช้ดุลยพินิจของสมาชิกปัจจุบันที่ทำงานร่วมกัน 750 คน การทำหน้าที่ในรัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นอำนาจอธิปไตยของชาติ ต้องมีดุลถ่วงอำนาจซึ่งกันและกัน ดังนั้นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 และ มาตรา231 กำหนดชัดเจนว่าต้องแก้ปัญหาใน 2-3เรื่องเท่านั้น  แต่ไม่มีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจสูงสุดของประเทศ คือ มติของรัฐสภา ไม่เช่นนั้นการใช้อำนาจอาจเกิดปัญหากับชาติได้ การตัดสินเรื่องใด ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องกลั่นกรอง ตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ ความสามารถ ว่าเรื่องใดขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือขัดกับหลักแบ่งแยกอำนาจหรือไม่”นายเสรี กล่าว

นายเสรี กล่าวด้วยว่า ตนกังวลว่าหากหากรัฐสภาทำงานต่อไป มีนักการเมืองไม่พอใจแล้วยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อยื่นเยอะ กลัวทัวร์ลงจึงส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ  การทำงานควรมีกรอบ ซึ่งตนมองว่ากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรัฐสภาหยุดการเลือกนายกฯ รอบ3 ไว้ก่อน จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะบ้านเมืองต้องมีนายกฯ ต้องมีรัฐบาล  กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำนั้นทำให้บ้านเมืองเสียหาย ตนไม่ห้ามการใช้ดุลยพินิจแต่ของติงว่ากรณีที่ขอให้รัฐสภาไม่ทำหน้าที่ต่อนั้นไม่ใช่งานของผู้ตรวจการแผ่นดินและหากจะบอกว่าเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิด  ตนมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพโดยตรงของประชาชน 

ขณะที่นายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงว่าจากการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมา มีการประเมินชี้วัดต่างๆ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าประเมินผลงานอยู่ที่ 62% ถือว่าสูงสุดในองค์กรอิสระ และเป็นพยานยืนยันว่าทำงานมีประสิทธิภาพ สำหรับการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาบนข้อกฎหมาย ระเบียบและปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่าคำร้องที่ยื่นนั้น มีองค์ประกอบครบถ้วน  ส่วนเรื่องที่ขอให้ชะลอเลือกนายกฯ นั้น มองว่าหากหากศาลัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อปฏิบติตามมติรัฐสภา หากขัดหรือแย้ง อาจมีผลเสียงกับการเลือกนายกฯได้ จึงยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนศาลจะพิจารณาแล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ

TAGS: #ผู้ตรวจการแผ่นดิน #ศาลรัฐธรรมนูญ #โหวตนายกรอบ2 #เสรี #สุวรรณภานนท์