"อดุลย์" ชี้ "ทักษิณ"กลับไทยเป็นสิทธิ แนะรัฐบาลใหม่ปรองดองนิรโทษคดีการเมือง 

อดุลย์ เผย “ทักษิณ”กลับบ้านเป็นสิทธิ แต่ต้องเคารพกฎหมาย-เสียสละก่อน แนะรัฐบาลชุดใหม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้เกิดความปรองดอง จึงขอพระราชทานภัยโทษ เตือนอย่ามีวาระซ่อนเร้น จะเกิดวิกฤตอีก

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 อดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า  ที่มีความยุ่งยากในขณะนี้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการญาติวีรชนฯได้คัดค้านและไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะนายมีชัย เขียนหมกเม็ดล็อกไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารคสช.ส่งผลจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2534 หรือ ฉบับรสช.ที่นายมีชัย เป็นประธานฯ จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา’35 หลังการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดจึงได้คายพิษสงออกมา แม้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งรวมเสียงได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังต้องพึ่งเสียงส.ว.อีก  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้วทุกฝ่ายก็ต้องจำยอมปฏิบัติตาม ซึ่งตามกติกาสากลหากพรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งไม่ได้ก็ต้องให้พรรคอันดับสอง หลายประเทศในยุโรป พรรคอันดับหนึ่งจัดไม่ได้ก็กลายไปเป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่ว่าพรรคอันดับหนึ่งต้องได้เป็นรัฐบาลเสมอไป และก็ใช้เวลาเนิ่นนานกว่าเราอีก ดังนั้นทุกฝ่ายต้องเครพกติกาไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็ไม่สงบสุข

“การจัดตั้งรัฐบาลของไทยในขณะนี้ เมื่อพรรคอันดับหนึ่งคือก้าวไกลจัดตั้งไม่สำเร็จ พรรคอันดับสองคือเพื่อไทย ย่อมมีสิทธิและอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลโดยปราศจากเงื่อนไข หรือ เอ็มโอยูของ 8 พรรคร่วม มิเช่นนั้นก็จะไม่สำเร็จอีก  การเชิญพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาหารือก็ปรากฏเงื่อนไขใหม่ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องพิจารณาว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะหากการเมืองยังแบ่ง2ขั้วเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นสูตรใด  8 พรรคร่วม หรือ ขั้วรัฐบาลเดิม เป็นรัฐบาล  ก็จะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียประโยชน์ จะไม่ทำให้ประชาชนจากทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่ต้องจำยอมเพราะไม่มีทางเลือก ความขัดแย้งก็จะยังไม่ยุติ เพราะจะมีอีกฝ่ายต่อต้านอีก แล้วบ้านเมืองจะสงบได้อย่างไร ดังนั้นการตั้งโจทก์สลับขั้วจึงไม่ถูกต้อง แต่ต้อง “สลายขั้ว” ถึงเวลาต้อง “สลายเสื้อสี” เพื่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากทุกฝ่าย แล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ   ให้อภัย อโหสิกรรมต่อกัน  ตามที่ครอบครัวญาติวีรชนฯ ให้อโหสิกรรม พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯในเหตุการณ์พฤษภา’35 ก็จะได้รัฐบาลช่วยชาติตามที่ญาติวีรชนฯคิดจนตกผลึกและได้เสนอมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งนี้ขอถามประชาชนด้วยว่ามีแนวไหนที่ดีกว่านี้เพื่อออกจากความขัดแย้งที่ประชาชนทุกฝ่ายเสียประโยชน์หมด เพราะถูกทำให้เลือกข้างตลอด จึงหมดเวลาเลือกข้างแล้ว ” 

นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับรัฐบาลช่วยชาติมีแนวทางดังนี้ 1.ดึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากทุกพรรคการเมืองมาร่วมรัฐบาลโดยไม่ยึดโควตา รวมทั้งนโยบายที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติจากทุกพรรคมาใช้เป็นนโยบายรัฐบาล 2. ออกกฎหมายแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตามที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอไว้ ซึ่งนพ.ระวี มาศฉมาดล อดีตส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ.… ต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้แล้ว 3.คดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ทรงเป็นพระราชอำนาจซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ ด้วยพระเมตตากรุณาของพ่อหลวงเป็นที่รู้กันประจักษ์โดยทั่วไป 4.ปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้างทุกด้าน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และวางรากฐานประเทศให้ก้าวหน้าทันสมัย 5. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ภายใน2ปี คืนอำนาจให้ประชาชน  ด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่  โดยรัฐบาลชุดใหม่ต้องดำเนินการตาม 5 ข้อดังกล่าวทันที

ประธานญาติวีรชนฯ กล่าวถึงกรณีอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร จะกลับประเทศไทย ว่า  เป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่จะกลับบ้านเกิดเมืองนอน แต่เมื่อมีคดีติดตัว ก็ต้องแสดงความเคารพต่อกฎหมายไทย ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในการปกครองประเทศ สำหรับการจะขอพระราชทานอภัยโทษเป็นสิทธิของประชาชนทุกคนอยู่แล้ว  แต่ขอย้ำว่าต้องเคารพกฎหมายไทย  แสดงถึงความจงรักภักดีให้เป็นที่ประจักษ์ พระเมตตานี้ประชาชนธรรมดาก็ได้รับอย่างเสมอภาคกันอยู่แล้ว ไม่มีใครได้สิทธิพิเศษ แต่เนื่องจากสังคมไทยมีความขัดแย้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมาก จึงต้องมีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองก่อน 

“โดยรัฐบาลชุดใหม่ต้องออกกฎหมายยกเลิกคดีทางการเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง   รวมทั้งคดีของคนรุ่นใหม่หรือกลุ่ม3นิ้วที่ถูกคดีทางการเมืองจำนวนมากในปัจจุบันนี้ ตามร่างพรบ.สร้างเสริมสังคมสันติสุขฯ เมื่อทุกฝ่ายพ้นจากทุกข์เข็ญ บรรยากาศของการเมืองก็เกิดความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ อดีตนายกฯทักษิณ จึงค่อยขอพระราชทานอภัยโทษ  ซึ่งท่านต้องรู้จักการให้และเสียสละก่อนแล้วจะได้รับการให้อภัย อโหสิจากทุกฝ่าย เพราะมีประชาขนกว่าครึ่งประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับท่าน ซึ่งจะเอาประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์และเห็นพ้องต้องกัน และขอเตือนว่าอย่ามีวาระซ่อนเร้น ด้วยการใช้เสียงประชาชนหรืออำนาจใดๆ ไปกดดันกระบวนการยุติธรรมเหมือนที่ผ่านมา  เพราะจะเกิดความขัดแย้งและวิกฤตรอบใหม่ซ้ำอีก” นายอดุลย์ กล่าว
 

TAGS: #ทักษิณกลับไทย #ทักษิณ #นิรโทษกรรม #คดีการเมือง