โผสูตรรัฐบาลใหม่นั้น จะมี 268 เสียง โดยมี "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกรัฐมนตรี "เพื่อไทย"เปิดเกมวัดใจส.ว. ไม่ดึงพรรคลุงมาร่วม แต่อ้าแขนรับกลุ่มมุ้งมาแทน
ความคืบหน้าเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลล่าสุด หลังพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย เปิดแถลงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแล้ววันนี้ (7 ส.ค.)นั้น พรรคเพื่อไทย ยืนยันจะเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และ หลังจากนั้น ทางพรรคเพื่อไทย จะมีการทยอย เปิดแถลงกับพรรคร่วมอื่นต่อไปโดยจะให้จบในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ในเบื้องต้นโผสูตรรัฐบาลใหม่นั้น จะมี 268 เสียง โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรค ประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง และ พลังสังคมใหม่ 1 เสียง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคไทยสร้างไทยนั้น เบื้องต้นพรรคเพื่อไทย ได้ประสานกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรคไปแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการไปทำความเข้าใจภายในพรรคไทยสร้างไทย เราะ ยังติดปัญหาเรื่องของ น.อ.ศิธา ทิวารี แกนนำของพรรคที่ไม่เห็นด้วย และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค ที่ยังอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ แต่หากพรรคไทยสร้างไทยไม่ตอบรับเงื่อนไข ทางพรรคเพื่อไทย จะมีเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลเพียง เพียง262 เสียง
ในขณะที่ กลุ่มนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคม จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้แจ้งความประสงค์ จะมาร่วมรัฐบาลด้วย โดยมีส.ส.มีอยู่ 9 เสียง แต่ทางพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ตอบตกลงเพราะยังติดชื่อพรรคลุง แต่ได้มีการขอให้โหวตนายกฯให้นายเศรษฐา ก่อน และจะมาพิจารณาหาวิธีการให้เข้าร่วมภายหลังที่ไม่ใช่ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ เช่นเดียวกัน กลุ่ม นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท ที่จะเข้ามาอยู่ด้วย
นอกจากนี้ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี 16 เสียง ก็ได้ติดต่อ อยากเข้ามาอยู่ด้วย แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคไม่ยินยอม เพราะต้องการให้เข้าร่วมรัฐบาลทั้งพรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ปฏิเสธไป และได้ขอให้ช่วยกันโหวตให้ในนามกลุ่มส.ส. แล้วจะมาพิจารณากันภายหลังเป็นรายกลุ่มไม่เกี่ยวกับพรรค
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีในรอบ3 นั้น ที่เลื่อนมาจากวันที่ 4 ส.ค.นั้นน่าจะอยู่ในช่วงวันที่ 17 หรือ 18 ส.ค.นี้ แต่ตั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 ส.ค.ว่าจะมีคำสั่งอย่างไร จะรับหรือไม่รับ พิจารณา กรณีคำร้องเรื่องญัตติซ้ำการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบสอง ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ในขณะที่ทางแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน ได้แสดงความมั่นใจ จะมี ส.ว.มาร่วมโหวตให้ นายเศรษฐา เป็นนายกฯ ได้ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนด คือ 376 เสียง โดยจะต้องหาเสียงจากส.ว.เพิ่มอีก 108 เสียง ซึ่งสวนทางกับการประมินของหลายฝ่ายที่มองว่า การตั้งรัฐบาล โดยไปคาดหวังเสียงส.ว.มากเกินไป เปรียบเสมือน "การไปตายเอาดาบหน้า" มากกว่า โอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จยากมาก จึงมีการมองข้ามไปถึงสูตร การโหวตรอบ 4 รอบ 5 ทั้ง "หนู" อนุทิน ชาญวีรกูล"เป็นนายกฯ และลุงป้อม " พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯกันแล้ว
ทว่าการที่ "อนุทิน-ลุงป้อม"จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ นั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องให้พรรคเพื่อไทยยินยอมเสียก่อน เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ยินยอม ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือแม้ตั้งได้ ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ประกาศชัดในหลายครั้ง จะไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะรัฐบาลไม่มีความมั่นคง บริหารประเทศไม่ได้ โอกาสยุบสภา เร็วมีสูง ซึ่งหากเลือกตั้งใหม่ ในระยะอันใกล้ "ก้าวไกล"จะแลนด์สไลด์ ทุกพรรคอาจสูญพันธุ์
ในทางกลับกันหากเพื่อไทยยินยอมไปโหวตหนุน ให้ "อนุทิน" หรือ "ลุงป้อม" เป็นนายกฯ โดยที่พรรคเพื่อไทยเป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาล ก็เสี่ยงพรรคแตกและเสี่ยงกับการถูกต่อต้านอย่างรุนแรง จากฝ่ายประชาธิปไตยและกลุ่มเสื้อแดง เพราะแค่มีข่าวจะดึงพรรคสองลุงมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังโดนถล่มอย่างหนักหน่วง ขืนไปยกให้พรรคอื่นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะยิ่งโดนหนักมากเข้าไปอีก โอกาสสูญพันธุ์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีสูง
ฉะนั้นโอกาสที่พรรคเพื่อไทย จะปล่อยมือให้พรรคอื่นไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยที่เพื่อไทยเป็นเพียงแค่พรรคร่วมรัฐบาลนั้นคงยากเพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย ในทางกลับกันพรรคเพื่อไทยคงเดินหน้าเต็มสูบ หวังจะปิดเกมโหวตนายกฯในรอบใหม่นี้ให้ "เศรษฐา"เป็นนายกฯ เพียงรอบแรก ไม่เช่นนั้นทุกอย่างอาจหลุดลอย พาการเมืองเข้าสู่ทางตัน
แต่ทว่าเกมการเมืองจากนี้ไปอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่มีสูตรตายตัว ตราบใดที่ยังไม่มีข้อยุติทุกอย่าง มีการพลิกผันกันตลอดเวลา จึงต้องตามกันไม่กระพริบ