“สุพันธุ์” เตือนหายนะทางเศรษฐกิจ ตกงาน-หนี้ครัวเรือนพุ่ง-บ้านโดนยึด

“สุพันธุ์” เตือนหายนะทางเศรษฐกิจ ตกงาน-หนี้ครัวเรือนพุ่ง-บ้านโดนยึด
“สุพันธุ์” วอน กนง.หยุดขึ้นดอกเบี้ย เตือนหายนะทางเศรษฐกิจตามมา ตกงาน-หนี้ครัวเรือนพุ่ง-บ้านโดนยึด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.25% ต่อปีว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทางลบมากกว่าในทางบวก

นายสุพันธุ์ อธิบายว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจภาค SMEs น่าเป็นห่วง การเพิ่มดอกเบี้ยยิ่งจะกระทบทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการรายย่อยสูงขึ้น การลดดอกเบี้ยจะสามารถบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคต ทั้งเสริมสภาพคล่องธุรกิจและช่วยปรับสภาพการชำระหนี้ให้ดีขึ้น

นอกจากนี้นายสุพันธุ์ยังทำนายว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ผลประกอบการของทุกบริษัทจะลดลงอย่างแน่นอนเพราะต้นทุนการเงินจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากไม่มีบริษัทไหนที่ไม่กู้เงิน การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้ต้นทุนการเงินของแต่ละบริษัทสูงขึ้นและอาจทำให้เกิดปัญหาการจ้างงานขึ้นในอนาคตเหมือนในยุโรปและอเมริกาปัจจุบันที่เริ่มมีปัญหาคนตกงานจากการที่ต้นทุนการเงินของบริษัทต่างๆ ทยอยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มรายย่อยและ SMEs ที่แบกต้นทุนการเงินด้านดอกเบี้ยสูงกว่า

ในทางกลับกันหากมาดูที่ประเทศญี่ปุ่นที่เดินหน้านโยบายการเงินสวนทางกับโลกตะวันตกนั้น นายสุพันธุ์ มองว่าเป็นโมเดลที่เป็นไปได้และคล้ายกับเรามากกว่า เพราะเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก แม้ค่าเงินจะอ่อน แต่ทำให้อย่างน้อยเครื่องจักรทางเศรษฐกิจทั้งสองตัวหลักนั่นคือท่องเที่ยวและส่งออกยังไปต่อได้ 

ประเด็นที่น่ากังวลอีกประเด็นคือประเด็นของปัญหาของหนี้เสียและหนี้ครัวเรือนระยะยาวที่ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนคนไทยอยู่ที่ 90.6% ของจีดีพี นับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ การขึ้นดอกเบี้ยเป็นการเพิ่ม ปัญหาส่วนนี้โดยตรงโดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีปัญหาในการชำระหนี้หรืออยากจะเร่งปิดหนี้ จะต้องขยายระยะเวลาเป็นหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก 

นอกจากนี้การปล่อยกู้ที่ปัจจุบันเริ่มยากขึ้นจะยากขึ้นไปอีกจะส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยหากดูในไตรมาสแรกของปี 2566 จะเห็นได้ว่าในภาคอุปทานสำหรับโครงการเปิดใหม่ชะลอตัวลงมากกว่า 38.7% การเปิดตัวโครงการใหม่ -10.5% และมูลค่าลดลงถึง 8.2% เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมามีสินทรัพย์ถูกยึดแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 50% เป็นตัวเลขที่สะท้อนว่า ผู้ซื้อบ้านเริ่มผ่อนต่อไม่ไหวจนถูกยึดและควรต้องเร่งแก้ไขด้วยการลดดอกเบี้ย ไม่ใช่ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มคนกำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางต่ำและกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย 

TAGS: #กนง. #ดอกเบี้ย #เศรษฐกิจ #หนี้ครัวเรือน