ก้าวไกล จ่อชงสภาเคาะ"ประชามติ"แก้รธน.ทั้งฉบับ ย้ำไม่โหวตนายกฯเพื่อไทย

ก้าวไกล จ่อชงสภาเคาะ
"ก้าวไกล"จ่อชงญัตติให้สภาพิจารณาออกเสียงประชามติถามความเห็นประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ย้ำมติไม่โหวตนายกฯเพื่อไทย 

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงว่าพรรคจะเสนอญัตติเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งพรรค ก.ก.ยืนยันเรื่องนี้มาตลอด เนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ขาดความชอบธรรม นำพาวิกฤตการเมืองมาสู่ประเทศ ซึ่งการดำเนินการตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นไปได้ที่ประชาชนจะเข้าคูหา 4 ครั้ง

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ขั้นตอนแรกคือจัดทำประชามติครั้งที่ 1 ก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีความจำเป็นทางกฎหมาย แต่หากผลออกมาชัดว่าประชาชนอยากให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำให้รัฐสภาไม่สามารถขัดขวางเจตจำนงประชาชนได้ ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อสะท้อนฉันมามติประชาชนจริงๆ ทั้งนี้ คำถามว่าควรเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เหตุผลคือ การถามคำถามลักษณะนี้เป็นการถามถึงหลักการสำคัญว่าควรร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งพรรคก้าวไกลเห็นว่าควรร่างใหม่ทั้งฉบับ คำถามนี้ยังถามถึงหลักการสำคัญว่า ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ ซึ่งเรามองว่าเป็นคำถามที่เข้าใจง่ายไม่ชี้นำ แตกต่างจากปี 2559 ที่มีคำถามพ่วงในลักษณะซ้ำซ้อนชี้นำ และคำถามประชามตินี้ไม่ใช่เรื่องงใหม่ แต่เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองเคยผ่านความเห็นชอบมาก่อน ในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ถ้าอิงตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2564 สามารถทำได้ 3 ช่องทาง คือ 1.ทำได้โดย ครม. ออกมติด้วยตนเอง 2.ประชาชนเข้าชื่อ 5 หมื่นคน ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ และ 3.เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้ ครม.ดำเนินการ เรามองว่าเพื่อความรวดเร็วในการทำประชามติ สามารถดำเนินการทั้ง 3 ช่องทางคู่ขนานกันได้ พรรคก้าวไกลจึงใช้กลไกสภาเสนอญัตติด่วนดังกล่าว โดยขอความร่วมมือทุกพรรคที่เห็นชอบว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้ร่วมมือกับเรา โดยให้ญัตตินี้ถูกพิจารณาโดยเร็วที่สุด และให้เห็นด้วยกับคำถามที่เสนอไป

“เมื่อมีการพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจมีข้อกังวลจากบางภาคส่วนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ ส่วนนี้ขอชี้แจงว่า การให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้นไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ปี 2560 ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตามหรือการนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องไม่ทำสองอย่างคือ ต้องไม่ทำเนื้อหาใดๆ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ”นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์  กล่าวว่า มติของพรรคก้าวไกลจะไม่โหวตเห็นชอบ แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย แต่จะเป็นลักษณะใดนั้น ต้องรอดูความชัดเจนว่าในการจัดตั้งรัฐบาลจะประกอบด้วยพรรคการเมืองใดบ้างก่อน 

เมื่อถามว่า การมีพรรค 2 ลุงมาร่วม จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โหวตไม่เห็นชอบนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ใช่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะไม่ให้ความเห็นชอบ ส่วนจะงดออกเสียง หรือไม่เห็นด้วยผลลัพธ์ก็เท่ากันอยู่ดี 

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง กรณีรัฐสภาได้มีมติวินิจฉัยข้อบังคับว่าการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ เป็นนายกฯซ้ำนั้น ไม่สามารถทำได้ พรรคก้าวไกลจะพิจารณาเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องรอดูคำนิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก่อน จึงจะมีท่าทีของพรรคก้าวไกลอีกครั้งหนึ่ง แต่ตนเองยืนยันว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่ควรนับเป็นญัตติทั่วไป ซึ่งไม่ใช่เพราะเกี่ยวกับนายพิธาเท่านั้น แต่เป็นการยืนยันหลักการที่ถูกต้อง ดังนั้น พรรคก้าวไกล เห็นว่าควรใช้พื้นที่ของรัฐสภา ทบทวนมติที่เคยลงมติไว้ 

TAGS: #ก้าวไกล #แก้รธน. #ประชามติ #โหวตนายก #รัฐบาลเพื่อไทย