เรืองไกร ร้อง นายกฯ สั่งสรรพากร สอบภาษีเอ็นแอนด์เอ็น กรณีขายที่ดินให้แสนสิริ
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าว ตอบโต้นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เรื่องที่ดินทองหล่อ โดยขอให้นายชูวิทย์ ต้องแยกผู้ขายกับผู้ซื้อให้ชัดเจน ดังความที่ปรากฏต่อสื่อมวลชนไปแล้วนั้น
นายเรืองไกร กล่าวว่า ข้อโต้แย้งระหว่างบุคคลทั้งสองดังกล่าว เป็นข่าวที่มีหลายฝ่ายหลายคนแสดงความเห็นไปต่าง ๆ นานา แต่ไม่ค่อยมีสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขหรือป้องกันกระบวนการที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายฉบับ และอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง
ข้อเท็จจริงที่นายชูวิทย์ กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงที่นายเศรษฐา แก้ต่าง มีหลายประเด็นที่อาจทำให้เห็นได้ว่า มีกระบวนการที่ส่อไปในทางไม่ชอบกฎหมาย ทำให้รัฐเสียหาย ดังนั้น ในวันนี้ ตนจึงส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้ดำเนินการ ตามความดังต่อไปนี้
ข้อ 1. กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 ในส่วนหัวข้อ ต้องแยกผู้ขายกับผู้ซื้อให้ชัดเจน โดยแถลงว่า
“ในทุก Episode ที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ นำมาสร้างกระแสนั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแปลงสารสิน หรือที่ดินซอยทองหล่อ เป็นเรื่องแบบเดียวกัน คุณต้องยอมรับว่าแสนสิริในฐานะผู้ซื้อ ทำธุรกรรมกับผู้ขายรายต่าง ๆ โดยชำระค่าที่ดินตามราคาตลาดที่สมเหตุสมผล สัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ซื้อและผู้ขายมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทแสนสิริ คือ ผู้ซื้อ ซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการบริหารภายในของฝ่ายผู้ขายได้ในทุกขั้นตอน
ฝั่งผู้ซื้อ ไม่มีนอมินี ไม่มีการปล่อยกู้ให้ผู้ขาย ความจริงเป็นการจดจำนอง เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาและห้ามผิดสัญญาของบริษัทผู้ขาย และประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเป็นจำนวน 1,000 ล้านบาท มีหลักฐานชัดเจน ผมยืนยันไม่มีการทำสัญญากู้ครับ อีกทั้งไม่มีการสมคบคิดใด ๆ และไม่เคยมีเงินทอนใด ๆ กลับมาที่ผม หรือพนักงานแสนสิริคนไหนทั้งสิ้น แปลงโครงการ คุณ บาย ยู มูลค่าที่ดินราคา 1,100,000 บาทต่อตารางวา เป็นราคาที่ดินที่ถือว่าดีมาก ราคานี้ไม่มีเงินทอนให้ใครหรอกครับ
ขอย้ำอีกครั้งว่า คุณชูวิทย์ต้องแยก ผู้ขาย กับผู้ซื้อให้ได้ อย่าบิดเบือนและแสนสิริไม่มีนอมินีแน่นอน หลังจากนี้คุณจะพูดเรื่องที่ดินอีกกี่แปลงก็ได้ คุณต้องแยกผู้ขาย กับผู้ซื้อให้ชัดเจน”
ข้อ 2. ต่อกรณีดังกล่าว นายเศรษฐา ยอมรับว่า บริษัทแสนสิริ คือ ผู้ซื้อ แต่เมื่อดูจากข้อมูลและแผนภาพ ปั่น บวม ตัดตอน ที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เคยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ส่วนหนึ่งระบุว่า บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ขายที่ดินทองหล่อให้บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ในราคา 957.55 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2559 ซึ่งนิติกรรมดังกล่าว ย่อมมีภาระภาษีที่ต้องนำส่งกรมสรรพากรตามกฎหมาย ดังนั้น การแถลงของนายเศรษฐา น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินทองหล่อแปลงนี้ด้วย
ข้อ 3. ต่อกรณีดังกล่าว เมื่อตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ไม่ส่งงบการเงินตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา สถานะปัจจุบัน เป็นบริษัทร้าง
ข้อ 4. การไม่ส่งงบการเงินตั้งแต่ปี 2558 แต่ต่อมาในวันที่ 14 ก.ย. 2559 กลับมีการขายที่ดินดังกล่าว ในราคา 957.55 ล้านบาท จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า เมื่อขายที่ดินแล้ว บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด มีการนำเงินกำไรไปเสียภาษีให้กรมสรรพากรโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่
ข้อ 5. เมื่อของบการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2557 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาตรวจสอบพบว่า บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด แสดงมูลค่าที่ดินไว้ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 6. อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน - สุทธิ เป็นเงินประมาณ 545.45 ล้านบาท ดังนั้น ในการขายที่ดิน ณ วันที่ 14 ก.ย. 2559 จึงควรมีกำไรประมาณ 412.10 ล้านบาท (957.55 – 545.45) เงินกำไรดังกล่าว จึงต้องนำไปปิดบัญชีส่งให้กรมสรรพากรเพื่อเสียภาษีตาม ภงด. 50 ต่อไป
ข้อ 6. การที่บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ไม่ส่งงบการเงิน และปล่อยให้เป็นบริษัทร้าง จึงน่าเชื่อว่า บริษัทนี้ไม่มีการปิดบัญชี เพื่อจะไม่ต้องไม่ยื่น ภงด.50 กรณี จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า อาจมีการไม่เสียภาษีให้กรมสรรพากร ซึ่งเรื่องภาษีย่อมต้องเป็นหน้าที่และอำนาจของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร จะต้องกำกับดูแลและสั่งการให้มีการตรวจสอบเพื่อนำเงินภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม มาเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป
ข้อ 7. ดังนั้น กรณีที่นายเศรษฐา แถลงข่าวส่วนหนึ่งว่า “ผู้ซื้อ ซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการบริหารภายในของฝ่ายผู้ขายได้ในทุกขั้นตอน” นั้น แต่นายเศรษฐา ก็อาจไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยราชการด้วยการร้องขอให้มีการตรวจสอบภาษีของบริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด หลังจากมีการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งการเสียภาษีเป็นหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และคนที่เป็นหรืออยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีควรมีวิสัยทัศน์ต่อเรื่องการจัดหารรายได้เข้าสู่รัฐ จึงควรติดตามการจัดเก็บภาษี นำตัวผู้เสียภาษีมาลงโทษตามกฎหมาย เมื่อข้อมูลที่นายชูวิทย์ กล่าวอ้างเรื่องที่ดินดังกล่าว ซึ่งอาจมีกำไรประมาณ 412 ล้านบาท ย่อมมีประเด็นภาษีมาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงมีเหตุอันควรขอให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแทนคนที่อยากจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ไปพลางก่อน
ข้อ 8. กรณีที่ดินทองหล่อ ฝ่ายผู้ซื้อควรจะรู้ว่า ที่ดินดังกล่าว ใครเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง การที่บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด มีการแจ้งโอนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากกลุ่มเดิม 4 คน ไปเป็นบุคคลที่ไม่น่าจะมีฐานะทางการเงินที่จะซื้อหุ้นมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ได้เพียงคนเดียว กรณี ย่อมมีพิรุธน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อขายที่ดินแล้วยังมีการโอนหุ้นที่มีกำไรจากการขายที่ดินประมาณ 412 ล้านบาท ไปให้บุคคลอื่นอีกในสัดส่วนเดียวกัน และน่าจะบุคคลที่ไม่น่าจะมีฐานะทางการเงินที่จะซื้อหุ้นมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ได้เพียงคนเดียว อีกเช่นกัน ดังนั้น กรณีการโอนหุ้นดังกล่าว ต้องตรวจสอบว่า เป็นนิติกรรมอำพราง หรือไม่ ผู้โอนหุ้นได้รับเงินจริงหรือไม่ ผู้รับโอนหุ้นแต่ละทอดเอาเงินที่ไหนมาซื้อหุ้นเกือบ 100 ล้านบาท เรื่องอย่างนี้ ถ้าทางฝ่ายผู้ซื้อจะกล่าวอ้างว่า ไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นที่แท้จริงเป็นใคร คงรับฟังได้ยาก
ข้อ 9. ดังนั้น จึงควรสั่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบขยายผล ติดตามเส้นทางการเงินที่ขายที่ดินดังกล่าว มีการทำเช็คแบบใด กี่ครั้ง มีการเบิกจ่าย หรือส่งมอบไปกี่ทอด ใครคือผู้รับเงินรายสุดท้าย ผู้รับเงินแต่ละทอดถือเป็นผู้มีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร หรือไม่ และการขายที่ดินดังกล่าวมีการตั้งนอมีนี มาเป็นตัวแทนเชิดของผู้ถือหุ้นที่แท้จริง เพื่อหลบหนีภาษี และซุกซ่อนเงินที่ได้จากการขายที่ดิน หรือไม่ มีการจ่ายเงินให้บุคคลที่สมรู้ร่วมคิดในนิติกรรมดังกล่าว หรือไม่ และกรณีดังกล่าว เมื่อไม่มีการปิดงบบัญชี และทิ้งบริษัทให้ร้าง ย่อมต้องตรวจสอบต่อไปว่า ธุรกรรมดังกล่าว เกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงบุคคลใด ฝ่ายใด หรือไม่
ข้อ 10. ข้อสังเกต ข้อเท็จจริงที่นายชูวิทย์ เปิดเผย อาจอยู่ในลักษณะ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” ทำให้เห็นได้ว่า หน่วยงานของรัฐ อาจไม่ได้ทำงานประสานกัน ตั้งแต่ การแจ้งโอนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การทำนิติกรรมที่กรมที่ดิน การปล่อยให้บริษัททิ้งร้าง การไม่ติดตามข้อมูลของกรมสรรพากร การกำกับดูแลของ ตลท. และ/หรือ กลต. ที่อาจมีข้อบกพร่อง ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ตัวอย่างที่นายชูวิทย์ นำมาเปิดเผย อาจเข้าข่ายมีกระบวนการ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” เพื่อปล่อยปละละเลยให้คนบางกลุ่มรวมมือกันเพื่อกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี จึงควรสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาและหาทางป้องกันต่อไป
นายเรืองไกร ทิ้งท้ายว่า ข้อเท็จจริงที่นายชูวิทย์ กับนายเศรษฐา นำออกมาเปิดเผย มีเหตุอันควรสงสัยหลายประการ การที่หลายฝ่ายนำไปวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเพียงนำข่าวมาเล่าต่อ ซึ่งกรณีดังกล่าวน่าจะเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ แต่ก็ไม่พบว่า นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จะออกมาตรวจสอบประเด็นปัญหาเหล่านี้ ตนจึงจำเป็นต้องส่งหนังสือให้นายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป