รัฐสภา ประชุมโหวตนายกรอบ3 “ชลน่าน” เสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ด้าน “โรม”โวยถูกถอนญัตติทบทวนมติรัฐสภา ขณะที่ “วันนอร์”ฉุนปะทะอารมณ์ สส.ก้าวไกล
เมื่อเวลา 10.00น. วันที่ 22 ส.ค.ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นทักท้วงกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่มีการบรรจุญัตติของตนเองที่ค้างอยู่ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2566 กรณีการขอให้ที่ประชุมรัฐสภาทบทวนมติวันที่ 19ก.ค.2566 ที่ไม่ให้มีการเสนอชื่อบุคคลซ้ำในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า เหตุใดไม่บรรจุญัตติ การตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41เพื่อให้มีการตีความให้เกิดความชัดเจน การอ้างข้อบังคับการประชุม ข้อ151 ว่า มติใดที่ประชุมมีความเห็นเป็นเด็ดขาดแล้ว ไม่สามารถทบทวนไม่ได้นั้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องถือตามคำวินิจฉัยตลอดไป โดยไม่สามารถทบทวนได้ แต่หากรัฐสภาจะทบทวนสิ่งที่เคยวินิจฉัยไป ย่อมทำได้ เช่นเดียวกับที่ศาลฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยทบทวนคำพิพากษาตัวเอง รัฐธรรมนูญระบุชัดว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีให้เลือกจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอมา แม้จะเสนอชื่อใครไปแล้ว ถ้าลงมติไม่ผ่าน ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญระบุว่า บุคคลนั้นไม่นับเป็นแคนดิเดตอีกต่อไป ความเป็นแคนดิเดตยังมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ขอให้กลับมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูก พวกท่านอาจไม่อยากให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ แต่อย่าถึงขั้นเผาบ้าน เพื่อไล่หนูตัวเดียว เราจะวางบรรทัดฐานกันถึงขนาดนั้นเลยใช่ไหม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ประธานรัฐสภา ได้ตัดบทขอให้นายรังสิมันต์หยุดอภิปราย เพราะพูดมานานแล้ว ไม่ได้ขัดขวางการอภิปราย แต่นายรังสิมันต์ได้พูดครบประเด็น จนสมาชิกเข้าใจแล้ว ควรพอเท่านี้ อีกทั้งในการประชุมวิป 3ฝ่าย ก็มีการรับรองความเห็นฝ่ายกฎหมายรัฐสภา บอกว่า มติที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถทบทวนได้ เพราะเป็นความเห็นเด็ดขาดไปแล้ว ถ้าไปทบทวนอาจเกิดความลังเลได้ ดังนั้นในฐานะประธานรัฐสภาขอใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 ใช้อำนาจวินิจฉัย ไม่รับญัตติด่วนของนายรังสิมันต์ที่เสนอด้วยวาจา รวมถึงญัตตินายสมชาย แสวงการ สว. ที่เสนอญัตติคัดค้านญัตตินายรังสิมัตน์ เมื่อวันที่ 4ส.ค.2566
แต่ปรากฏว่า สส.ก้าวไกล หลายคน พยายามโต้แย้งคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา เสียเวลาไปร่วม 30นาที โดยเฉพาะนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. ระบุว่า ประธานรัฐสภาวางตัวไม่เป็นกลาง รู้เห็นเป็นใจกับเสียงข้างมาก ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ไม่พอใจ กล่าวตอบโต้ด้วยน้ำเสียงไม่สบอารมณ์ทันทีว่า “ขอให้ถอนคำพูดว่า ผมรู้เห็นเป็นใจ ถ้าไม่ถอนคำพูดจะไม่อนุญาตให้พูดต่อ เพราะเป็นการกล่าวหาผมอย่างรุนแรง ยืนยันว่า ผมซื่อสัตย์ต่อตัวเอง”
แต่นายธีรัจชัย ได้พยายามจะพูดต่อ ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวอย่างฉุนเฉียวว่า “ขอให้นั่งลง คุณจะนั่งลงไหม คำสั่งประธานถือเป็นเด็ดขาด” ทำให้นายธีรัจชัยมีท่าทีอ่อนลง และนายวันนอร์ได้ใช้อำนาจสั่งให้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไปทันที
จากนั้นเวลา 11.00น.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยมี สส.ได้แสดงตนรับรอง จำนวน 287 คน
จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ได้เปิดให้สมาชิกรัฐสภาการอภิปรายคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อตามสมควร ซึ่งในการประชุมวิปทั้งสามฝ่ายได้ตกลงเวลาของการอภิปราย คือ สว. 2 ชม. สส. 3 ชม. พรรคก้าวไกลของครึ่งชม. ส่วนเวลาที่เหลือให้ สส.และ สว.ตกลงกันเองภายใน 2 ชั่วโมง