เสรี มองจุดอ่อนรัฐบาล มีพรรคร่วมมาก เตือนอย่าเสนอแต่นโยบายของพรรคตัวเอง อาจเกิดความขัดแย้งได้ แนะให้ตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงภาพการพบกันระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ว่าดูเป็นบรรยากาศที่ดี ที่เป็นการพูดคุยกัน ไม่ใช่การเผชิญหน้ากัน เมื่อถามว่าสำหรับโผ ครม.เศรษฐา 1 จะสามารถเรียก ความเชื่อมั่นได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เป็นเรื่องของการตกลงกัน และความร่วมมือของแต่ละพรรคการเมือง ที่เข้าร่วมรัฐบาล เมื่อมีการตกลงกันแล้วก็ให้เป็นไปตามที่ตกลง คงจะดำเนินไปได้ด้วยดี
ภาพที่นายเศรษฐา เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นนัยยะทางการเมือง หรืออาจเป็นการสืบทอดทางการเมืองหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เรื่องของการสืบทอดอำนาจไม่น่าจะมี มองว่าเป็นการส่งต่ออำนาจกัน ซึ่งหากเป็นการสืบทอดอำนาจไม่รู้ว่าจะสืบกันอย่างไร อยากให้มองในแง่ดีไว้ก่อน เพราะการที่จะปรับเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นมารยาทอยู่แล้วที่แสดงออกในการเป็นมิตรไมตรีต่อกัน มองว่าตอนนี้ให้ประเทศเดินหน้าไปก่อน เพราะประชาชนอยากจะเห็นรัฐบาลที่สามารถทำงานได้ บางทีอะไรที่อยู่ในใจอยากให้เก็บกันไว้ก่อน อย่าพึ่งแสดงออกมาตอนนี้เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐบาลใหม่ทำงานไม่ได้ เพราะมีแต่เรื่องขัดแย้งกัน ต้องให้โอกาสกัน
เมื่อถามในอนาคตจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อทำงานหลังจากนี้หรือไม่นั้น นายเสรี กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจ ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมาจากหลายพรรคการเมือง ซึ่งอาจมองว่าเป็นจุดอ่อนส่วนหนึ่งก็ว่าได้ เพราะการมีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นความเห็นที่แตกต่างและการทำงานจะได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งการทำงานร่วมหลายพรรคการเมืองเห็นมาหลายครั้งแล้ว ว่าในที่สุดก็เกิดความเปราะบาง หากเกิดความขัดแย้ง และแยกตัวกับรัฐบาลอาจอยู่ลำบาก โดยความเข้มแข็งว่าจะอยู่อย่างไรนั้นอยู่ที่พรรคการเมือง ว่าจะเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์อย่างไร หากนำเสนอแต่นโยบายของพรรคตนเองมากจนเกินไปก็อาจกลายเป็นความขัดแย้งได้ และ หากเป็นนโยบายที่ไม่สุจริตหรือซื่อสัตย์ ไม่มีคุณธรรมจริยธรรมอาจมีความเห็นต่างขึ้นง่าย ดังนั้นรัฐบาลใหม่ ต้องตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริต และสำคัญที่สุดคือการรักษาความสงบของบ้านเมือง อย่าให้ใครมากระทำผิดต่อกฎหมาย
นายเสรี กล่าวว่า ที่รับปากว่าจะไม่แก้ ม.112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะไม่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาแก้รัฐธรรมนูญด้วยก็จะสามารถทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ ซึ่งหากผิดคำพูดหรือสนับสนุน กลุ่มที่จะแก้ไข ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องคำนึงถึงจุดเปราะบางในส่วนนี้ด้วย
ส่วนเสียงโหวตของ ส.ว. ในวันโหวตเลือกนายกฯ ที่มีความแตกต่างกันมาก จะส่งผลต่อการทำงานของ ส.ว.หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่าระยะเวลาของ ส.ว. เหลือเพียง 10 เดือนเท่านั้น ดังนั้นผลการลงคะแนน นั้นผ่านพ้นไปแล้ว ในอนาคตหากไม่ทำอะไรที่ผิด ส.ว. คงอยู่ในสถานภาพที่ใกล้จะหมดอายุ คงไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น