หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.เป็นต้นมา ได้เกิดปรากฏการณ์อาถรรพ์กับหัวหน้าพรรคหลายคน ซึ่งมีทั้งกระเด็นจากหัวหน้าพรรค บ้างก็ต้องลาออกทิ้งเก้าอี้ส.ส. ส่วนจะมีใครกันบ้างไปติดตาม
หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.เป็นต้นมา ได้เกิดปรากฏการณ์อาถรรพณ์กับเก้าอี้ของหัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค บ้างก็ต้องกระเด็นจากหัวหน้าพรรค บ้างก็ต้องลาออกจากส.ส. ล่าสุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ยื่นใบลาออก จากส.ส.โดยให้มีผลวันที่ 1 ก.ย.นี้
เหตุผลหลักคือเสียสละเปิดทางให้คนรุ่นใหม่อย่าง "มงกร ยนต์ตระกูล"ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์2 นายทุนใหญ่ของพรรคขึ้นมากุมบังเหียนต่อไป
อย่างไรก็ตามได้มีการโยง ว่า เป็นเพราะอาจจะไม่สมหวังเรื่องการไม่มีเก้าอี้ในรัฐบาลเพื่อไทย ทั้งที่ พล.อ.เสรีพิศุทธิ์ ออกตัวหนุนเพื่อไทยให้ถีบก้าวไกล มาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคสองลุง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่น่าเกี่ยวกับเรื่องเก้าอี้ส.ส.เพราะแม้ได้เป็นรัฐมนตรี ก็ต้องลาออกเปิดทางคนถัดไปเป็นส.ส.อยู่ดี
นอกจากประเด็นการลาออกของ พล.อ.เสรีพิศุทธิ์ แล้ว ที่มาพร้อมๆกัน นั่นคือ ข่าวการลาออกของ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อ วันที่ 30 สิงหาคม 2566 นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์คลิปบนทวิตเตอร์ ระบุว่า นพ.ชลน่าน จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในวันนี้(30 ส.ค.) ตามที่ได้พูดไว้กับประชาชน เมื่อภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลประสบความสำเร็จ ส่งนายเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเรียบร้อย
ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ได้ประกาศบนเวทีดีเบตแห่งหนึ่งในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง โดยระบุ ว่า หากพรรคเพื่อไทยไปรวมกับพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ หมอชลน่านจะลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยทันที
อย่างไรก็ตามถึงแม้จะต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไป แต่ "หมอชลน่าน "จะไปรับตำแหน่งเก้าอี้รมว.สารธารณสุข แทน
ขณะที่ก่อนหน้านั้น ได้มีหัวหน้าพรรคการเมืองหลายคน ต้องลาออกจากตำแหน่ง โดยประเดิมเป็นคนแรก หลังเลือกตั้ง14 พ.ค.2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)ได้ประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบหลังพรรคปชป.แพ้เลือกตั้งยับเยิน จนถึงขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แต่ นายจุรินทร์ ยังเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ถัดมา วันที่ 30 มิ.ย.2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก โชว์หนังสือลาออกจากส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยให้เหตุผล อยู่เคียงข้าง “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จนวินาทีสุดท้ายของท่านในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในท้ายที่สุด นายพีระพันธุ์ จะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พลังงานในรัฐบาลเพื่อไทย
จากนั้น 11 ก.ค.2566 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ได้แจ้งลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคไทยสร้างไทยแล้ว ตามที่ได้ประกาศในวันที่เข้าสภาครั้งแรก โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ยังคงเป็นหัวหน้าพรรค ในขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการพรรค ขึ้นมาเป็นส.ส.แทน แต่ทั้งหมดต้องเป็นฝ่ายค้าน
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แม้จะยังอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าหน้าพรรค แต่ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่ง เมื่อ วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.รอตีความปมถือหุ้นไอทีวี ถึงตอนนี้ยังต้องลุ้นหนักเรื่องจะขาดสมาชิกภาพส.ส.หรือไม่ แต่ที่หลุดลอยไปแล้วคือเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ปิดท้ายที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศจะไม่เล่นการเมือง และจะลาออกจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในเร็วๆนี้ หลังต้องผิดหวังหมดโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่คงจะรั้งเก้าอี้หัวหน้าพรรคไว้เพื่อไม่ให้คลายเหงา
ที่สำคัญเพื่่อป้องไม่ให้พรรคแตก และ คุ้มครองดูแล พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย ที่จะมารับเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีควบรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกด้วย
ปรากฏการณ์อาถรรพ์ที่เกิดกับหัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวข้างต้น ได้ส่งผลให้ในเวลานี้ ยังไม่สามารถหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ เพราะบางพรรคขาดหัว หรือมีหัวแต่ไม่ได้เป็นส.ส. ก็ไม่เข้าคุณสมบัติ เลยต้องรอกันไปก่อน