"เรืองไกร" อ้างคำสั่งศาล รธน.ร้อง ป.ป.ช. ไต่สวน ผู้ตรวจการแผ่นดิน จงใจปฏิบัติหน้าที่ ขัดรธน.มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เผย หลังจากอ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 31/2566 แล้ว มีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีความเห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 31/2566 วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นคดีระหว่าง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ร้อง กับ รัฐสภา ผู้ถูกร้อง นั้น ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วมีความเห็น ในหน้าที่ 4 -5 ดังนี้
“พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำร้อง และเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ แต่บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งนายรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 159 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเฉพาะจากบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอและเป็นผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เท่านั้น ดังนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภาต้องเป็นผู้ที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง อันเป็นสิทธิเฉพาะบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อตั้งขึ้นเป็นหลักการใหม่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกเหนือจากสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 3 เมื่อผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ว่าจะเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อต่อรัฐสภา ผู้ร้องเรียนทุกคนไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมีช่องทางในการยื่นคำร้องที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะตัวแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป”
ข้อ 2. การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า “ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้” ซึ่งคำร้องดังกล่าว ผู้ร้อง คือผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 (คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหน้า 2) ดังนี้
“1. การกระทำของรัฐสภาที่มีมติว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในรอบที่สองเป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ร้องเรียนที่ 1 ถึงที่ 16 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม และมาตรา 27
2. กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย โดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย”
ข้อ 3. โดยผลของคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ “กำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัย โดยให้มีคำสั่งยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย” นั้น น่าจะเป็นเหตุให้ประธานรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา ตกใจกลัวจนไม่กล้าประชุมรัฐสภา ตามระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 27 กรกฎาคม และต่อเนื่องมาถึงระเบียบวาระของวันที่ 4 สิงหาคม ทั้งนี้ เห็นได้จากหนังสือของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/ร 4 วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เรื่อง งดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งระบุเหตุผลไว้ดังนี้
“เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 213 ประกอบมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และขอให้มีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาจึงเห็นควรให้งดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2566 ทั้งนี้ หากจะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อใดจะแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาทราบต่อไป”
ข้อ 4. ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญมามีคำสั่งในวันที่ 16 สิงหาคม 2566 โดยเห็นว่า “ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้” จึงส่งผลกระทบต่อการปะชุมของรัฐสภา ที่ตกใจกลัวและไม่กล้าประชุมตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม และรอจนมาถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จึงกล้าประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป
ข้อ 5. การที่รัฐสภา เสียเวลา เพราะไม่กล้าประชุมเลือกนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม และรอจนมาถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นั้น ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องล่าช้าไปเกือบหนึ่งเดือน จึงเกิดความเสียหายต่อการบริหารรราชการแผ่นดิน การตรากฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อ 6. ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า “ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้” กรณี จึงอาจทำให้เห็นได้จากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญว่า ผู้ร้อง คือผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีหน้าที่และอำนาจที่จะยื่นคำร้องดังกล่าว เรื่องนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายคงไม่ได้ จึงไม่ควรปล่อยให้ผ่านไป ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 จึงควรถูกไต่สวนโดย ป.ป.ช. ต่อไป
ข้อ 7. รัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) บัญญัติว่า
“มาตรา 234 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวย ผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ หรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”
นายเรืองไกร กล่าวว่า เช้าวันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ไปถึงประธาน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนและมีความเห็นว่า โดยผลของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ผู้ตรวจการแผ่นดินมีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ แล้ว