สว.ได้เวลาคนละ5นาที อภิปรายนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ด้าน สมชาย ห่วง ดิจิทัลวอลเล็ตแจก 56 ล้านคน ใช้เงินเยอะ ถ้าไม่สำเร็จอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.สมาชิกวุฒิสภา (สว.)กล่าวถึงการอภิปรายนโยบายรัฐบาลในวันที่ 11-12 ก.ย.ว่า ไม่รู้ว่าจะพูดได้เนื้อหามากแค่ไหน เพราะรอบนี้มีสว.ขออภิปราย 59 คน แต่สว.ได้รับจัดสรรเวลา 5 ชั่วโมง เฉลี่ยแล้วได้พูดคนละ 5นาทีเท่านั้น ส่วนตัวเตรียมข้อมูลไว้มาก แต่เวลาที่ได้น้อยไป พูดออกไปอาจไม่รู้เรื่อง ต้องไปคุยหน้างานจะหาวิธีแก้ปัญหาอย่างไร เนื้อหาที่เตรียมไว้จะพูดเรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000บาท จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ยั่งยืนหรือไม่ ยังไม่รู้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน ไม่ใช่เงินหมดแล้วก็กลับมาทุกข์เหมือนเก่า จะเกิดผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศหรือไม่
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่า ตนไม่ได้ร่วมอภิปรายนโยบายรัฐบาลในรอบนี้ เพราะเวลาที่สว.ได้รับคนละ 5นาที คงไม่พอ จึงไม่ได้ร่วมอภิปราย แต่อยากฝากข้อเป็นห่วงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่มีคนได้รับอานิสงส์ 56ล้านคน ใช้เงิน 5.6แสนล้านบาท เหตุใดไม่แยกแยะคนรวยออกมา แต่ให้หมดทุกคน ทั้งคนเล่นหุ้น สส. สว. ครม. นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการประจำ ตำรวจ ทหาร พนักงานบริษัทที่มีเงินเดือนสูงๆ ไม่สกรีนกันเลย คนเหล่านี้มีเป็นล้านๆคน และทำไมต้องให้คนอายุ 16ปีขึ้นไป การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำแค่ตามสมควรก็ทะยานได้ ไม่ต้องจ่าย 5.6แสนล้านบาท รวดเดียว คนรวยไม่เคยเอาเงินตัวเองมาแจก แต่เอาเงินภาษีประชาชนมาแจกประชาชน ถ้ากระตุ้นสำเร็จก็เป็นเรื่องดี ถ้าไม่สำเร็จอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตก เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งได้
นายสมชาย กล่าวว่า อีกเรื่องที่อยากฝากคือ ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีเขียนในนโยบายรัฐบาล กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเป็นตัวอย่างที่ประชาชนกำลังจับจ้องว่า รัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ นายทักษิณได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1ปี ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่เมื่อรักษาตัวจนอาการดีขึ้น จะต้องถูกนำกลับไปรักษาตัวที่อยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมปกติ ที่มีขีดความสามารถในการรักษาเพียงพอ รับโทษอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนครบ 1ปี โดยไม่มีการขอรับการอภัยโทษเพิ่มเติมอีก จึงจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี วางหลักกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค มีความเท่าเทียมกันทุกคน จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การสร้างความปรองดองได้สำเร็จ