“ชัยวัฒน์” สส.ก้าวไกล ถามรัฐบาล เอาเงิน 5.6 แสนล้านบาท มาทำโครงการแจกเงินดิจิทัลจากไหน ชี้ ไม่เหมาะกับสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว จี้ทบทวน ระวังอาจไม่ใช่พายุหมุนกู้เศรษฐกิจ แต่ทำลายระบบการคลัง
นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยวิเคราะห์ถึงความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ด้วยการแจกเงิน และความเสี่ยงที่อาจทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จตามที่รัฐบาลคาดการณ์ แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 5 ประเด็น
ประเด็นแรก สภาวะเศรษฐกิจไทย ทั้งในปัจจุบันและที่คาดการณ์ไปถึงครึ่งปีหน้า ไม่เหมาะสมที่จะต้องเร่งกระตุ้นการบริโภคด้วยนโยบายการแจกเงิน ตามที่กล่าวอ้าง เนื่องจากรายงานภาพรวมเศรษฐกิจไทยของหน่วยงานต่างๆ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางที่กำลังฟื้นตัว การใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น อัตราการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน มีการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงโควิด
แต่ปัญหาที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น มาจากภาคการส่งออก ในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตลงจากปีก่อน โดยเฉพาะจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกไทย จนตอนนี้การส่งออกของไทยหดตัวกว่า 10 เดือนติดต่อกันแล้ว สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจึงไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม ที่จะใช้มาตรการทางการคลังมากระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน
เนื่องจากการใช้มาตรการทางการคลัง ก็เหมือนกับที่ท่านนายกฯ ได้บอกว่าเป็นการช็อกกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้น การช็อกแบบนี้ควรต้องทำให้ถูกจังหวะ นโยบายแจกเงินถ้วนหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจควรทำเมื่อการบริโภคภาคเอกชนหดตัว ไม่ใช่มาทำตอนที่การบริโภคกำลังขยายตัว
ท่านนายกฯ ควรคิดทบทวนว่า จะทำนโยบายแก้ปัญหาการส่งออกหดตัวต่อเนื่องอย่างไร จะตรงจุดกว่า รวมถึงทบทวนว่าจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าในการแก้ปัญหาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพื่อกระตุ้นให้ SME มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้การเริ่มธุรกิจใหม่ทำได้ง่ายและขยายตัวได้เร็ว แทนที่จะใช้งบประมาณเพื่อเอาเงินมาแจก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ไม่ถูกเวลา
ประเด็นที่ 2 การที่ท่านคาดหวังว่าการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้เกิดผลเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นอย่างมหาศาล อาจเป็นการคาดการณ์ที่สูงเกินไป
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินถ้วนหน้า มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เป็นการผันเงินจากรัฐบาลสู่กระเป๋าประชาชน โดยคาดหวังให้ประชาชนเอาเงินไปใช้จ่าย และหวังให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนสร้างผลกระทบให้เกิดการใช้จ่ายเปลี่ยนมือ หมุนเวียนไปอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเม็ดเงินหมุนเวียนมาก มูลค่าการผลิตและรายได้ก็จะยิ่งเติบโตมากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์จะใช้สิ่งที่เรียกว่า ตัวคูณการคลัง (Fiscal Multiplier) เป็นตัวชี้วัดที่บอกว่าถ้ารัฐบาลอัดฉีดเงินออกไป 1 บาท เศรษฐกิจหรือ GDP จะขยายขึ้นเท่าไร เช่น ถ้าบอกว่ารัฐบาลให้เงินผมมา 1 บาท และผมจ่ายเงิน 1 บาทนี้นั่งวินมอเตอร์ไซค์มาที่สภาฯ วินฯ รับเงินไปก็เอา 1 บาทนี้ไปเติมน้ำมัน และปั๊มน้ำมันก็เอาเงิน 1 บาทนี้ ไปจ่ายซื้อน้ำมัน หมายความว่า GDP จะขยายขึ้นจาก 1 บาทแรกที่รัฐบาลอัดฉีดมา กลายเป็น 3 บาท
แต่ในความจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะถ้ายังไงผมก็ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว ผมก็แค่จ่ายด้วยเงินที่รัฐบาลอัดฉีดมา แล้วก็เก็บเงินเก่าในกระเป๋าเอาไว้ ผมไม่ได้ต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นจาก 1 รอบเป็น 3 รอบ การใช้จ่ายก็ไม่ได้ขยายตัว แถมยังมีการรั่วไหลในทุกขั้นตอนการเปลี่ยนมือ เช่น ถ้าต้องนำเข้าน้ำมัน เงินก็รั่วออกไปต่างประเทศ หรือที่โดนเก็บภาษีน้ำมัน เงินก็รั่วไปเข้ากองทุนน้ำมัน
จุดสำคัญอยู่ตรงนี้ คือไม่มีใครรู้เป๊ะๆ ว่าเจ้า ‘ตัวคูณการคลัง’ นี่เป็นเท่าไร แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์ทราบกันดีก็คือ ตัวคูณการคลังจะน้อยในสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงขยายตัวเช่นตอนนี้ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าตัวคูณการคลังต่ำกว่า 1 เท่า แปลว่าการอัดฉีดเงินเข้าไป ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากไปกว่าเงินที่ใช้ไป ได้ไม่คุ้มเสีย จากการศึกษาของ IMF บ่งชี้ว่าการแจกเงินถ้วนหน้ามีตัวคูณการคลังต่ำเพียง 0.2 ต่ำกว่าการอุปโภคภาครัฐ 0.4 และการลงทุนของภาครัฐ 0.7
ตัวคูณการคลังของนโยบายแจกเงินส่วนใหญ่นั้น อยู่ในระดับต่ำไม่ถึง 0.5 เท่าเสียด้วยซ้ำ ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยเคยกล่าวว่าคาดหวังผลตัวคูณที่ 3 รอบ มีบางเอกสารว่าสูงถึง 6 รอบ เป็นการประเมินตัวเลขที่ห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริงไปมาก
ถ้าดูจากสถิติบนโลกแห่งความจริง การหมุนเวียนของการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนี้ อาจไม่ทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจหลายรอบตามที่กล่าวอ้าง แต่อาจทิ้งซากปรักหักพังไว้เป็นภาระการคลังของประเทศ เป็นหนี้เป็นสินให้ลูกหลานต้องมาชดใช้ เสียโอกาสในการนำงบประมาณไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนในด้านอื่นๆ
ประเด็นที่ 3 หากนายกฯ ยังยืนยันว่าจะทำนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ได้ ก็ยังมีปัญหาอีกมากอยู่ดี โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะเป็นการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัลที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น กำหนดให้ใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
ปัญหา (1) มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้พักอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเขตภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน ดูได้จากสถิติผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีมากกว่า 2.35 ล้านคน
แต่ถ้าบอกว่าเพื่อกระจายเงินไปยังทุกพื้นที่ ปัญหา (2) ก็ต้องคิดก่อนว่ารัศมี 4 กม. ในต่างจังหวัด จะมีร้านค้าที่พอรับเงินดิจิทัลได้กี่ร้าน ในพื้นที่ห่างไกลนอกตัวเมือง แค่ร้านค้าธรรมดายังแทบหาไม่ได้ และแทนที่ประชาชนจะได้ใช้เงินซื้อของที่ตัวเองต้องการ กลับถูกบีบบังคับด้วยเงื่อนไขระยะทาง ทำให้ต้องซื้อของที่อาจไม่อยากได้ และท้ายที่สุด ปลายทางของเงินดิจิทัลอาจจบที่ร้านสะดวกซื้อหรือห้างค้าส่ง ที่เป็นของธุรกิจขนาดใหญ่
แม้เคยมีการชี้แจงจากพรรคเพื่อไทยว่าปรับเปลี่ยนได้ แล้วแต่สภาพพื้นที่ แต่ก็ไม่เคยมีคำชี้แจงเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าในพื้นที่ห่างไกลมีเงื่อนไขอย่างไร ไม่เคยมีคำอธิบายที่มาที่ไปที่สมเหตุสมผล
ปัญหา (3) การกำหนดเงื่อนไขให้ร้านค้าในระบบภาษีเท่านั้นที่สามารถ cash out แลกเงินในดิจิทัลวอลเล็ตนั้นออกมาเป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารได้ ทำให้ร้านค้ารายเล็กที่รับเงินดิจิทัลมาแล้วไม่สามารถขึ้นเงินได้ ต้องไปซื้อของกับร้านค้าอื่น ซึ่งก็จะถูกบีบด้วยเงื่อนไขในระยะทาง 4 กม. นี้อีกเช่นกัน แล้วร้านค้าจะไปหาสินค้าอะไรมาขาย ก็ต้องหาในระยะ 4 กม. เท่านั้นหรือ
เงื่อนไขแบบนี้อาจทำให้ร้านค้าไม่อยากเข้าร่วมโครงการรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตนี้เลยก็เป็นได้ หรืออาจจะรับในราคาที่แพงพิเศษ เช่น ข้าวของราคา 5 บาท แต่ถ้าเป็นจะจ่ายเป็นเงินดิจิทัลอาจจะคิด 10 บาท บวกต้นทุนค่าสภาพคล่องและความลำบากยุ่งยากเข้าไป หรืออาจเกิดการทุจริตรับแลกเงินดิจิทัล 10,000 กับเงินสดในราคาที่ต่ำกว่า เช่น จ่ายเป็นเงินสดให้เลย 8,000 บาทก็เป็นได้
ประเด็นที่ 4 ตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท ว่าท่านนายกฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังด้วย จะหาเงินตรงนี้มาอย่างไร เพราะพรรคเพื่อไทยพูดมาตลอดว่าทำได้และจะไม่กู้เงิน
560,000 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 18% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมดของรัฐบาล ยังไม่รวมถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบบล็อกเชนและ ดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งท่านก็ไม่เคยพูดถึง ว่าจะให้ใครมาพัฒนาและให้ใครเป็นคนดูแลจัดการระบบนี้
ถ้ามาดูโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 67 ของรัฐบาล มีงบทั้งหมด 3.35 ล้านบาท ต้องจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จ่ายหนี้ จ่ายงบผูกพัน ท้องถิ่นและสวัสดิการ จะเหลือในกระเป๋าแค่ 850,000 ล้านบาท และยังต้องกันไปเป็นงบลงทุนตามกฎหมายอีก 450,000 ล้านบาท เหลือให้ใช้จริงแค่ 400,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลต้องเอาไปแบ่งกันใช้ดำเนินการทั้ง 20 กระทรวง ตนจึงเป็นห่วงเหลือเกินว่าท่านนายกฯ และรัฐมนตรีคลังจะเอาเงินมาจากไหน แล้วจะต้องก่อหนี้ยืมสินไว้ให้ลูกหลานชดใช้อีกสักเท่าไร
(1) ถ้าหากท่านจะหาเงินจากการทำงบประมาณขาดดุลการคลัง ตัวเลขขาดดุลงบประมาณปีล่าสุดก็เกือบเต็มเพดานหนี้สาธารณะอยู่แล้ว ขาดดุลเพิ่มได้อีกแค่ 2.2 หมื่นล้านเท่านั้น (2) ถ้าจะยืมเงินรัฐวิสาหกิจให้จ่ายล่วงหน้า ก็ติดเพดานวินัยการเงินการคลังอีกเช่นกัน ได้อีกประมาณ 62,000 ล้านบาท (3) ถ้าจะไปตัดเงินลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 21.8% พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุนขั้นต่ำไว้ 20% ก็จะตัดมาได้แค่ 1.8% หรือ 58,000 ล้าน ก็ยังห่างไกล (4) ถ้าจะขายกองทุนวายุภักษ์ทั้งหมดทิ้ง ก็อาจได้เงินประมาณ 346,000ล้านบาท ต่อให้รวมเงินจากทุกวิธี ยังได้เงินเพียง 488,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยพูดมาตลอดว่าจะไม่กู้เงิน แต่จากการวิเคราะห์แหล่งเงินที่ได้แจกแจงมาแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นว่าท่านจะหาเงินจากไหนมาแจกโดยที่ไม่กู้เงินเพิ่ม
ตนจึงขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน ขอให้ท่านยืนยัน ว่าจะไม่กู้เงินมาแจก และขอวิงวอนอย่าให้งานแรกของการเข้ามาบริหารประเทศของท่าน คือการทลายขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง เพื่อหาทางใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งจะไม่ได้ผ่านกลไกการตรวจสอบของสภาฯ ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ผู้ที่เสียประโยชน์โดยแท้จริงก็คือประชาชน
“ถามตรงๆ ว่าปัญหาที่ท่านไม่มีกระแสเงินสดที่มากพอและไม่สามารถหาเงิน 560,000 ล้านบาท มาได้นั้น เป็นเหตุผลให้ท่านหาทางแจกเงินดิจิทัลเป็น Utility Token หรือสิทธิ์ในการใช้เงินในอนาคต ใช่หรือไม่” นายชัยวัฒน์กล่าว
ประเด็นสุดท้าย ความเสี่ยงที่จะทำให้นโยบายนี้ล้มเหลว คือปัญหาทางเทคนิค จากที่ท่านได้ยืนยันว่าต้องการทำระบบดิจิทัลวอลเล็ตด้วย บล็อกเชน โดยอ้างเหตุผลต่างๆนานานั้น จริงๆ แล้ว บล็อกเชน เป็นตัวอย่างที่ดีของประชาธิปไตย เพราะหัวใจของ บล็อกเชน คือการกระจายอำนาจ
โดยทำฐานข้อมูลให้กระจายออกไปหลายจุด เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลที่ไม่รวมศูนย์อยู่ที่เดียว และฐานข้อมูลแต่ละจุดสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันไม่ให้มีใครแอบตุกติกแก้ไขข้อมูลได้ เพราะการแอบแก้ไขข้อมูลในจุดเดียวนั้น จะไม่ตรงกับข้อมูลในจุดอื่นๆ ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ ข้อมูลที่แอบแก้ไขก็จะถูกตีตกไป ไม่ได้รับการยอมรับ
เหตุผลที่ท่านอ้างในการใช้ บล็อกเชน เช่น มีความปลอดภัยสูง ก็ไม่จริง เพราะ บล็อกเชน อย่าง Ethereum ก็เคยถูกแฮคขโมยเหรียญ ETH ออกไปมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐมาแล้วในปี 2016 โดยอาศัยช่องโหว่ใน Smart Contract หรือเหตุผลเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นจริงด้วยเงื่อนไขที่ว่า บล็อกเชน ต้องไม่รวมศูนย์เก็บฐานข้อมูลไว้ที่คนกลุ่มเดียว ต้องเปิดให้คนหลายกลุ่มเข้าถึงและตรวจสอบฐานข้อมูลของ บล็อกเชน ได้ แต่ในโครงการของรัฐเช่นนี้ ชัดเจนว่ามีตัวกลางคือรัฐ และ บล็อกเชน นี้น่าจะมีการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์โดยรัฐบาลหรือคนกลุ่มเดียวที่รัฐบาลมอบหมาย
หรือเหตุผลว่าสามารถเขียนโปรแกรมเงื่อนไขต่างๆได้ (programmable) ต้องเรียนข้อเท็จจริงตามตรงว่า ถึงไม่ใช้ บล็อกเชน ก็เขียนโปรแกรมเงื่อนไขเหล่านี้ได้ และระบบชำระเงินอย่างแอป ‘เป๋าตัง’ ก็ทำมาให้เห็นอยู่แล้ว ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ดังนั้น สรุปได้ว่าเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้ไม่ใช่ความจำเป็นที่จะต้องใช้ บล็อกเชน มาทำดิจิทัล วอลเล็ต แต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ บล็อกเชน ยังจะนำไปสู่ปัญหา เพราะมีข้อจำกัดที่คนในวงการ บล็อกเชน ทั่วโลกทราบกันดีคือ การทำธุรกรรมที่ช้า แม้ตอนนี้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ให้รองรับธุรกรรมได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์พอ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากอยู่ดีที่จะใช้กับระบบชำระเงินที่จะมารองรับผู้ใช้งานหลายสิบล้านคนที่ใช้พร้อมๆ กัน
“ผมเองเคยทำโครงการเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางหรือ CBDC มาแล้ว โดยผ่านการใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน ชั้นนำมาแล้ว 3 ราย จึงบอกได้ว่าเทคโนโลยีนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับระบบชำระเงินที่มีผู้ใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนหลายสิบล้านคนพร้อมกัน” นายชัยวัฒน์กล่าว
นาย ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยกับการที่ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลด้วย บล็อกเชน และคาดหวังที่จะให้ บล็อกเชน กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคตที่จะสร้างศักยภาพใหม่ ๆ ให้คนไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ ที่ท่านไม่ควรเอามาผูกกันกับโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งท่านบอกว่ามีความเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพราะหากระบบ บล็อกเชน นี้ล้มเหลว สาธารณชนจะสูญเสียความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี บล็อกเชน ไปอย่างกู่ไม่กลับ และท่านอาจไม่สามารถพัฒนาบล็อกเชน ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยได้อีกเลย
“ท่านควรคิด ควรออกแบบ โดยรับฟังความคิดเห็นของนักพัฒนาซอฟต์แวร์และผู้เชี่ยวชาญในวงการบล็อกเชน อย่างถี่ถ้วนรอบด้าน อย่าหวังว่าจะยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะถ้าปืนด้าน ยิงไม่ออก นกสักตัวก็จะไม่ได้” นายชัยวัฒน์กล่าว
นโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงไม่เหมาะสมต่อสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ถูกจุด และอาจไม่เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลคาดไว้ สร้างภาระด้านงบประมาณทิ้งไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป
“ผมขอเสนอแนะให้ท่านนายกฯ ทบทวนรายละเอียดต่างๆ โดยแยกเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงิน กับเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลออกจากกัน เพราะนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนี้ ฟังดูแล้ว มีแต่ข้อมูลและคำตอบที่เลื่อนลอย หากท่านไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดและตอบคำถามแก่ประชาชนได้ ก็อย่าเพิ่งเดินหน้าจนกว่าจะให้ความกระจ่าง เพราะหากท่านดึงดันที่จะทำ ผู้เสียประโยชน์โดยแท้จริง ก็คือประชาชนคนไทยทั้งประเทศ” ชัยวัฒน์กล่าว