เกมขับเทียม"หมออ๋อง" ยึดเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน-รองประธานสภา"ระวังดาบสองคม "ก้าวไกล"

เกมขับเทียม
เกมขับ "หมออ๋อง"ของ "ก้าวไกล "หวังยึดเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านเก็บตำแหน่งรองประธานสภาไว้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อภาพลักษณ์ของพรรคก้าวไกลในการทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์

กรณีกระแสพรรคก้าวไกล เตรียมเดินเกมการเมือง เพื่อยึดกุมเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ยังต้องการรักษาตำแหน่งรองประธานสภา ของ หมออ๋อง  "ปดิพัทธ์ สันติภาดา"ให้นั่งอยู่ควบคู่กันไป โดยไม่ต้องลาออก  ด้วยการใช้วิธีขับ "หมออ๋อง"  ออกจาก พรรคก้าวไกล ให้ไปสังกัดพรรคอื่น ที่เป็นพันธมิตร อย่างพรรคเป็นธรรมชั่วคราว และ หากในอนาคตใกล้วันเลือกตั้ง ค่อยรับ "หมออ๋อง"กลับเข้าพรรคใหม่  เพื่อหลีกเลี่ยง รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ที่กำหนดคุณสมบัติ ห้ามไม่ให้หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีสมาชิกพรรค ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

พลิกดูขั้นตอนการขับส.ส.ออกจากพรรคการเมืองเดิมที่สังกัดอยู่นั้น  เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 101 (9) กำหนดไว้ว่า กรณีที่ ส.ส.พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิก ตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ถ้าหากส.ส. คนที่ถูกขับ ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติ ก็ทำให้ขาดสมาชิกสภาพ 

ในขณะเดียวกันเมื่อมาดู เรื่องการพ้นตำแหน่งของ ประธานและรองประธานสภา ตามมาตรา 118 ก็ระบุชัด ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมพ้นจากตําแหน่งก่อนวาระ เมื่อ (1) ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก (2) ลาออกจากตําแหน่ง  (3) ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น  (4) ต้องคําพิพากษาให้จําคุกแม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษเว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทําโดยประมาทความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

ดังนั้นหาก "หมออ๋อง"ถูกขับออกจากพรรคก้าวไกล แล้วย้ายไปอยู่พรรคอื่นใน 30 วัน ก็ไม่ขาดสมาชิกภาพ อีกทั้งไม่หลุดจากเก้าอี้รองประธานสภา อีกด้วย

ในขณะที่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็ตกเป็นของพรรคก้าวไกลโดยปริยาย เพราะ เป็นพรรคใหญ่อันดับ1ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน โดยไม่ขัด รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ที่กำหนดคุณสมบัติ ห้ามไม่ให้หัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีสมาชิกพรรค ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากคนของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ดำรงตำแหน่งตามข้อห้ามดังกล่าวแล้ว

ซึ่ง เวลานี้  "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ได้ประกาศลาออกจาก หัวหน้าพรรคก้าวไกล  เพื่อเปิดทางให้มีเลือกหัวหน้าคนใหม่ มาดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เนื่องจาก"พิธา" ยังอยู่ภายใต้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ปมถือหุ้นไอทีวี จึงยังไม่สามารถจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้

จากนั้น เมื่อพรรคก้าวไกลได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งต้องเป็นส.ส.ด้วยแล้ว ก็จะได้สิทธิ์ในเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านสมบูรณ์  เพื่อใช้เป็นธงนำในการขับเคลื่อนตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นต่อไป

แม้แนวทางดังกล่าวในข้างต้นของพรรคก้าวไกล ค่อนข้างจะสดใส มีการยกย่อง คนคิดคนวางแผน มือยิ่งกว่าชั้นเซียนเหยียบเมฆ  ได้ทั้งเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน ได้ทั้งเก้าอี้รองประธานสภาไป  

แต่หมากเกมนี้ผลลัพธ์สุดท้ายอาจไม่ใช่สวยหรูเสมอไป มันเหมือนดาบสองคม เมื่อมีได้ก็ต้องมีเสีย โดยเฉพาะมันจะสุ่มเสี่ยง ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคก้าวไกล ถูกมองว่า เป็นการเล่นการเมืองแบบเดิมๆ  ใช้วิธีการหลบเลี่ยงรัฐธรรมนูญ ใช้วิธีการแบบศรีธนญชัย เพื่อให้ได้ตำแหน่ง  ซึ่งย้อนแย้งกับภาพลักษณ์ของพรรคก้าวไกล ที่ประกาศจะทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ 

อย่างไรก็ตาม แม้ "ก้าวไกล"จะอธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันบิดเบี้ยวมาตั้งแต่ต้น มีการปล้นชัยชนะของพรรคก้าวไกล ไม่ให้เข้ามาบริหารประเทศ ที่ได้รับฉันทานุมัติ จากประชาชน มาเป็นอันดับหนึ่ง และในท้ายสุด ต้องตกเป็นฝ่ายค้าน ฉะนั้น ตำแหน่งใดที่คว้ามาได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีอะไร จะด้วยยุทธวิธีแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง ก็ถือเป็นความชอบธรรม ทั้งนั้น จะยิ่งทำให้พรรคก้าวไกลสุ่มเสี่ยงกับภาพลักษณ์เล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์ของตนเองในอนาคตก็เป็นได้

ฉะนั้นหมากเกมนี้ถือเป็นการวัดใจ แกนนำพรรคก้าวไกล อย่างยิ่ง 

TAGS: #ก้าวไกล #หมออ๋อง #ผู้นำฝ่ายค้าน #รองประธานสภา