เทียบเท่าประหารชีวิต "ก้าวไกล" แถลงปม  ตัดสิทธิเลือกตั้ง "ช่อ" ตลอดชีพ  

เทียบเท่าประหารชีวิต
"โตโต้" นำทีมแถลงปมศาลฎีกาตัดสิทธิเลือกตั้ง "ช่อพรรณิการ์" ตลอดชีพ ยังสงสัยเอาผิดพฤติกรรมย้อนหลังตั้งแต่ยังไม่เป็น สส. ถามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปราบโกงหรือปราบนักการเมืองไม่ยอมจำนน ลั่นเท่ากับประหารชีวิต

นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีศาลฎีกาพิพากษา นส.พรรณิการ์ วาณิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ว่า ตนเคยอภิปรายเรื่องหลักยุติธรรม โครงสร้างประเทศที่ใช้นิติสงครามเข้ามาดำเนินการกับนักการเมือง

“คำถามคือปราบโกงหรือปราบใคร เนื้อแท้คือปัญหารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง สร้างกลไกใหม่ไว้จัดการนักการเมือง นั่นคือมาตรฐานทางจริยธรรม กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ไต่สวนกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะสูงส่งแค่ไหนเราไม่ทราบ ส่งผลให้ สส. สว. และรัฐมนตรีอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมนี้ด้วย และมีสิทธิ์ที่จะไปออกมาตรฐานขององค์กรของตนเองขึ้นมา”

นายปิยรัฐ กล่าวต่อว่า ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อ สส. สว. และรัฐมนตรี มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องจริยธรรมไม่ได้จบภายใน แต่ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรค 3 วรรค 4 ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ วินิจฉัยหรือเอาผิดนักการเมือง ปัญหาไม่ได้สัดส่วนของความผิดการลงโทษ รวมถึงการลงโทษซ้ำซ้อน โทษทางการเมืองไปแล้ว แต่ก็ยังมีโทษตัดสิทธิ์ย้อนหลังไปอีก

ปัญหาอยู่ที่เราใช้มาตรฐานจริยธรรมองค์กรอิสระมาใช้กับนักการเมือง แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต่อไปนี้เราจะต้องตั้งคำถามกับองค์กรอิสระด้วยว่าในอดีตนั้นเคยผิดจริยธรรมหรือไม่ที่ดำรงตำแหน่งในวันนี้ ดังนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างแท้จริง

“เพราะความผิดของคุณพรรณิการ์ ถ้าเราดูดีๆ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังมีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้นมาก ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เพราะไม่ได้ปราบโกงจริงๆ แต่กลับเปิดโอกาสให้มีการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลั่นแกล้งทางการเมือง รวมถึงการใช้ให้เป็นเครื่องมือในการปราบนักการเมือง ที่เขาเรียกว่านักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน นักการเมืองที่ไม่ยอมอยู่เป็น สยบยอมอยู่ภายใต้กฎหมายนี้” นายปิยรัฐ กล่าว

ขณะที่นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส.นนทบุรี กล่าวว่า ขอชี้แจงในฐานะส่วนตัวถือว่าน.ส.พรรณิการ์เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่สมัยตั้งพรรคอนาคตใหม่ อยากชวนให้ช่วยกันคิดว่ามาตรฐานจริยธรรม สส. มันย้อนกลับไปก่อนที่เขามาเป็น สส. หรือไม่ พฤติกรรมตั้งแต่สมัยประถมศึกษา มัธยมศึกษาสามารถนำมาใช้ในขณะที่เขาเป็น สส. ได้หรือไม่ นอกจากนี้การกระทำที่เขาพ้น สส.ไปแล้ว ความผิดเรานั้นยังตามผิดตรงตัวเขาไปอยู่ด้วย เรื่องนี้จะยึดโยงไปถึงอนาคตและอดีตหรือไม่ หากกฎหมายฉบับนี้ย้อนไปถึงตัวพวกท่านเองแน่ใจหรือไม่ว่ายุติธรรมเพียงพอ

“ฝากคำถามดังๆ ไปถึงศาลฎีกาว่าสิ่งที่ท่านวางบรรทัดฐานอย่างนี้ท่านแน่ใจแล้วนะครับว่าถูกต้องใช่หรือไม่”

ด้านน.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. ระบุว่า หลักการกฎหมายไม่ควรจะมีกฎหมายลงโทษย้อนหลัง ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไม่ได้สัดส่วนของการลงโทษและการกระทำความผิด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อดูโทษที่ได้รับเรียกได้ว่าการตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากเราเทียบกฎหมายอาญา โทษเทียบเท่าการประหารชีวิต เป็นอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายปิยบุตร ออกมาโพสต์ว่าพรรคก้าวไกล ไร้น้ำใจ ไม่แสดงท่าทีต่อกรณีคำพิพากษาของ น.ส.พรรณิการ์ และออกมาแสดงความเห็นช้าเพราะเหตุใดนั้น นายปิยรัฐ กล่าวว่า กรณีที่นายปิยะบุตรมีความเห็นนั้นเป็นคุณูปการในการตั้งคำถามกับพรรคการเมือง ต้องเรียนว่าในนามของพรรคได้มีการแถลงข่าวไปแล้วในทางสาธารณะ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของพรรคเมื่อเช้านี้ 

ส่วนการแถลงนี้ไม่ได้แถลงในนามพรรค เพราะเราไม่ต้องการมองว่านี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล อยากให้เป็นเรื่องของประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม และเป็นหน้าที่ของ สส.ทุกคนควรตั้งคำถาม เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาของนักการเมืองทุกคน รวมถึงการวางบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญด้วย

นายปิยรัฐ ยอมรับว่าพรรคก้าวไกลได้มีการปรึกษาหารือกันเป็นการภายใน แต่ไม่สามารถที่จะแสดงความเห็นได้ในทันทีเมื่อวานนี้ เนื่องจากมีการประชุมสภา วันนี้จึงเป็นการเริ่มต้นพูดถึงเรื่องนี้   ส่วนได้คุยกับ น.ส.พรรณิการ์หรือยัง นายปิยรัฐบอกว่า ส่วนตัวของตนยังไม่ได้คุย และเชื่อว่าพรรคก้าวไกลได้มีการพูดคุยแล้ว

เมื่อถามว่าในบทบาทของนิติบัญญัติ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร นายปิยรัฐ กล่าวว่า ตามที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล ได้นำเสนอให้มีการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราเสนอให้มีการกำหนด กฏเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ส่วนความเห็นหากมองว่าการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ในลักษณะนี้มีความรุนแรงมากไป มีความเห็นว่าควรให้อำนาจใครในการตรวจสอบจริยธรรมของนักการเมือง นายปิยรัฐ กล่าวว่า ความจริงแล้วการกระทำผิดวินัยหรือจริยธรรมมีกฎหมายอื่น ใช้บังคับอยู่รวมถึงองค์กรต่างๆก็จะมีกลไกภายในของตัวเองที่ใช้บังคับ เช่น กรณี สว.ที่มีการตรวจสอบจริยธรรมกันเอง แซงนะซึ่งตนมองว่าศาลไม่ควรจะเป็นผู้มาชี้ผิดชี้ถูกเพราะมาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช่เรื่องผิดถูกที่จะสามารถใช้อำนาจทางกฎหมายหรือสารมาตัดสินชี้ถูกชี้ผิดตายแซงละเรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องผิดถูกหากให้มีการวินิจฉัยกันเองภายใน ว่า ผิด หรือ ไม่ผิด จริยธรรม  แต่ เมื่อไหร่ที่ตั้งข้อสงสัยมันมีกฎหมายรองรับอยู่ เช่นการวินิจฉัยว่าผิดวินัยร้ายแรงแล้วความผิดนั้นไม่เป็นข้อเท็จจริงผู้ที่ถูกฟ้องก็สามารถไปร้องศาลปกครองเพื่อให้วินิจฉัยในขั้นตอนการ ไต่สวนหรือสืบสวนวินัยร้ายแรง ว่า ลงโทษผิดตามกฏหมายหรือหน้าที่หรือไม่ 

“ผมเชื่อว่าองค์กรทุกองค์กร มีหน่วยงานที่มาชี้ผิดชี้ถูกในเรื่องจริยธรรมเพื่อเป็นมาตรฐานในองค์กรตัวเองอยู่แล้ว แต่เรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องที่จะเข้ามาชี้ผิดชี้ถูกโดยใช้กฎหมายเป็นมาตรวัดได้”

เมื่อถามว่าเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัวหรือไม่ นายปิยรัฐมองว่า ไม่ใช่การเขียนเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกล หรือคดีมาตรา 112 เท่านั้น แต่คำถามสำคัญก็คือ กรณีทั่วไปที่ศาลเคยตัดสินโทษไปแล้ว ศาลฎีกาจะกลับมาเอาโทษนักการเมืองคนนั้นในภายหลังได้อีกหรือไม่ 

“ผมว่าไม่ใช่การเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่นักการเมืองทุกคน ต้องสำนึกว่ากฎหมายอยู่ในมือใคร และจะใช้กฎหมายกับใคร”
 

TAGS: #ช่อพรรณิการ์วานิช #ตัดสิทธิเลือกตั้งตลอดไป #ก้าวไกล