ก้าวไกล แถลงยื่นร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ปรับปรุงให้ผ่านสภาก่อนประกาศใช้ หวังเป็นกฎหมายเปลี่ยนโฉมประเทศ
สส.พรรคก้าวไกล นำโดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงการยื่นร่างพ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.บ.ฉุกเฉิน) หลังนายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ ตั้งกระทู้ถามสดต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้เคยยื่นไปในสภาสมัยที่แล้ว และเราก็เกือบที่จะผ่านในวาระที่ 1 โดยได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เช่น พรรคเพื่อไทย อีกทั้งการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างยาวนาน และยังถูกในสถานการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ซึ่งเราพบว่าการประกาศใช้ดังกล่าว เป็นการใช้โดยปราศจากการถ่วงดุล และตรวจสอบจากสภา เช่น การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ที่ถูกนำไปใช้ในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่มีความเห็นต่างทางการเมือง จนมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า การออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินในขณะนั้น มีจุดประสงค์อะไร ต้องการแก้ปัญหาโควิดหรือต้องการใช้ปกป้องผู้มีอำนาจ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้รับการตอบรับอะไรจากรัฐบาล ด้วยปัญหาทั้งหมดที่มี เราจึงเสนอ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เพื่อให้มีกฎหมายที่สภามีอำนาจในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร
นายโรม กล่าวว่า รายะละเอียดดังนี้ 1.การประกาศใช้พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ยังคงอำนาจให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศใช้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า การประกาศนั้น จะต้องมีการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 3 วัน และจะต้องขออนุมัติจากสภาภายใน 7 วัน เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนสามารถอนุญาตให้รัฐบาลใช้กฎหมายที่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพต่อตัวพวกเขาได้ ตามหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
2.ในการขออนุมัติจากสภา รัฐบาลมีหน้าที่ในการทำแผนว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จะแก้วิกฤติด้วยวิธีการใด วันนี้เราเจอปัญหาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างที่นายรอมฎอน ได้ถามในสภาจะพบว่ารัฐบาลขาดความชัดเจน จะประกาศไปทำไม มีแผนอะไร และแผนดังกล่าวจะแก้วิกฤตินั้น ได้เมื่อไหร่ เพราะเราไม่เคยได้รับทราบ รับรู้เลย สภาจึงมีสิทธิที่จะรู้ว่าการที่รัฐบาลจะใช้อำนาจพิเศษตรงนี้ มีแผนการในการจัดการวิกฤตอย่างไร
3.พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการเข้ามาตรวจสอบ แต่พ.ร.บ.ฉุกเฉินที่พรรคก้าวไกลเสนอเข้าไป เราให้อำนาจกับประธานสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการร้องไปยังศาลปกครอง หากการประกาศใช้นั้นมีเหตุให้ต้องประกาศหรือไม่
4.สุดท้ายการใช้อำนาจพิเศษนี้ เจ้าหน้าที่แทบจะไม่ต้องรับผิดอะไรเลย แต่ในพ.ร.บ.ฉุกเฉิน หากการใช้อำนาจทำให้เกิดความเสียหาย การดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจนั้นๆ สามารถดำเนินการได้
นายรังสิมันต์ กล่าวย้ำว่า หลักการที่เราเสนอในพ.ร.บ.ฉุกเฉินฉบับนี้ คือหลักการสากลที่ประเทศไทยของเราควรจะมี และจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพควบคู่ไปกับการใช้อำนาจพิเศษ ซึ่งเราเข้าใจว่าบางครั้งก็จำเป็นต้องมีในสถานการณ์ที่เราอาจจะไม่สามารถคำนวณหรือคาดคะเนได้ตลอดเวลา และคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนสส. โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้เคยให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว และหวังว่าการที่พรรคเพื่อไทยไปเป็นรัฐบาลในวันนี้ จะไม่ทำให้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่เคยมีต่อกฎหมายฉบับนี้เปลี่ยนไป
ด้านนายรอมฎอน กล่าวเสริมว่า ความสำคัญของพ.ร.บ.ฉุกเฉินฉบับนี้ ที่ตนและคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ติดตาม ความเคยชินกับการอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้เราจินตนาการไม่ออกว่ากฎหมายไทยจะสามารถบริหารปกครองได้อย่างชอบธรรม สมเหตุสมผลมากกว่านี้หรือไม่ เพราะฉะนั้น เมื่อคนที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบพิเศษนั้น นึกไม่ออกว่าความชอบทำในหลักปกครองหรือหลักนิติธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร นี่จึงเป็นโอกาสที่รัฐสภาไทยจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่น ไว้วางใจต่ออำนาจรัฐไทย ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้ และทำให้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รูัสึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับการปฏิบัติ เคารพยอมรับในความเป็นตัวตน และสิทธิเสรีภาพที่ตัวเองมี ไม่ใช่อยู่ในสถานการณ์ที่พิเศษอยู่เสมอ ตนคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นฉันทามติร่วมกัน โดยเฉพาะสส.ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ตนเห็นใจนายสมศักดิ์พอสมควรที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 3 วัน แต่จำเป็นจะต้องทวงถาม เพราะแบบแผนในการขยายอายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่างไป จากเดิมที่ต่อเวลา 3 เดือน กลายมาเหลือแค่ 1 เดือน
"ตกลงแล้วรัฐบาลจะเอาอย่างไร หากมีความจำเป็นจะต้องต่อมีความจำเป็นอย่างไร ถ้าจะลดลงหรือจะยกเลิกก็ขอความชัดเจน แต่สิ่งที่เราชัดเจนที่สุดจากคำตอบที่ได้รับจากรองนายกรัฐมนตรีคือ ท่านชัดเจนว่ายังไม่ชัดเจน และขอเวลาในการศึกษา ทั้งที่ผมก็ทักท้วงไปแล้ว คาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศ และการบริหารราชการ ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามเส้นทางการเดินของกฎหมายฉบับนี้"นายรอมฎอน กล่าว
เมื่อถามว่า เมื่อแก้ไขเป็นพ.ร.บ.ฉุกเฉิน จะตรงตามเจตนารมณ์ในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือบังคับใช้ไปตลอด นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ปกติเรามีพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว ซึ่งคล้ายกับกฎหมายฉบับนี้ แต่จุดเริ่มต้นเป็นการอาศัยเครื่องมือของรัฐบาล ซึ่งสภาเห็นชอบและคงบังคับใช้ต่อ แต่ความแตกต่างของกฎหมายฉบับนี้คือเนื้อหาของพ.ร.บ.ฉุกเฉินฉบับนี้ จะให้อำนาจสภาในการรีวิวว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลมีความจำเป็นจริงๆ หรือไม่ แต่หากประการศโดยที่ไม่มีแผนอะไร ก็ต้องบอกวิธีการให้กับสภา ว่าจะแก้อย่างไร ด้วยเวลาเท่าไหร่ แม้พ.ร.บ.ฉุกเฉินจะอนุญาตให้ต่อการใช้ได้ไม่เกิน 30 วัน แต่ก็สามารถต่ออีกได้ เพียงแต่ต้องขออนุญาตสภา ไม่มีทางที่เราจะให้อำนาจพิเศษไปอยู่กับรัฐบาลโดยปราศจากการตรวจสอบ ดังนั้น ตนจึงคิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้รัฐบาลมีความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับ ตรวจสอบได้ และเป็นผลดีต่อรัฐบาลเอง
เมื่อถามว่ากรอบการขยายเวลาที่ลดจาก 60 วัน เหลือเพียง 30 วัน จะทำให้การบริหารราชการติดขัดหรือไม่ กล่าวว่า ต้องบอกว่าเวลาไม่สั้น เพราะในกระบวนการนั้น ตนเชื่อว่าหากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง รัฐบาลมีความชอบธรรม อย่างไรสภาก็คงต้องยอมรับไม่ขัดขวาง เพราะประชาชนจะลงโทษเอง ตนคิดว่า 30 วันเป็นเวลาที่เหมาะสม อนึ่งรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว เราคงไม่สามารถประวิงเวลาได้ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลใช้อำนาจไปในทางที่ไใ่ชอบ ไม่มีแผนงานที่ชัดเจน ที่อาจะเกิดการท้วงติงได้ แต่หากคิดในแง่ของประประชาชนที่ต้องการความชัดเจน และรู้ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร หลายครั้งที่เราเจอวิกฤตแล้วรัฐบาลไม่มีคำตอบที่ชัดเจน สุดท้ายประชาชนก็ต้องสวดมนต์ให้กับตัวเองเพื่อหาทางออก ส่วนหากมีเหตุฉุกเฉินจริง ก็สามารถประกาศได้ทัน เพราะนายกรัฐมนตรีสามารถประกาศได้ทันที ภายใน 3 วัน เมื่อผ่านครม. แล้ว
เมื่อถามว่า ได้คุยกับพรรคเพื่อไทยในเรื่องนี้แล้วหรือยัง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่ได้คุยเป็นทางการ แต่ตนคิดว่าเราได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน ว่าเรามีจุดยืนอย่างไร