โฆษกปชป. แนะนายกฯ ฟังเสียงท้วงติงแจกเงินดิจิทัลด้วยความจริงใจ หวั่นเดินหน้าสุดท้ายประชาชนรับภาระ ชี้เป็นนายกฯ ไม่ใช่ประธานบริษัท พร้อมขอให้ปรามลูกพรรคตอบโต้นโยบายดีๆ อย่าแขวะเรื่องเลือกหัวหน้าพรรค
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีมีข้อท้วงติงนโยบาย "ดิจิทัลวอลเล็ต" ที่จะมีการแจกเงิน 10,000 บาท ว่า เคยท้วงติงตั้งคำถามตั้งแต่ช่วงแรกว่านับแต่วันที่มีการแถลงนโยบายว่ารัฐบาลยังแจงรายละเอียดต่อประชาชนไม่ได้ว่าจะมีหลักการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร งบประมาณจะใช้จากส่วนไหน วิธีการดำเนินการยังกลับไปกลับมา และขณะนี้มีแถลงการณ์ของอาจารย์เศรษฐศาสตร์ได้ออกมาให้ความเห็นด้วยเหตุด้วยผล รัฐบาลต้องรับฟังความเห็นด้วยความจริงใจ แต่ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสนใจ ทั้งๆที่เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะงบประมาณที่จะต้องนำไปใช้กับโครงการดังกล่าวมีจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท คำท้วงติงที่บอกว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย นายกรัฐมนตรีต้องละเอียดในการตรึกตรอง การใช้จำนวนเงินมากมายมหาศาลหากนำมาสร้างงานเพื่อให้ประชาชนได้เกิดรายได้ที่ยั่งยืนได้
ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องคิดให้ดี เพราะหากจะเดินหน้าโดยไม่สนใจใยดี ท้ายที่สุดประชาชนก็ต้องรับผลกระทบ ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ราคาสินค้าจะแพงขึ้นหรือไม่ จะมีผลต่อหนี้สาธารณะหรือไม่ รัฐบาลต้องคิดและอย่าเอาชีวิตประชาชนและประเทศมาเป็นตัวประกัน เพราะหากเกิดความเสียหายรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร
นายราเมศกล่าวต่อว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องไม่ลืมคำพูดของตนเองที่พูดว่า “บางทีเสียงที่เราไม่อยากได้ยินกลับเป็นเสียงสวรรค์” ดังนั้นก็ควรระลึกถึงคำพูดและปฏิบัติให้เห็นด้วย เพราะคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีได้ควรรักษาคำพูด รับฟังความเห็นอย่างจริงใจสำคัญที่สุด อย่าลืมว่านายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ประธานบริษัท จะกระทำสิ่งใดต้องยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศ มีคำเตือนอยู่ว่าข้างหน้านายกรัฐมนตรีกำลังจะพาประชาชนพาประเทศไปลงเหว ก็ควรหยุดคิดพิจารณาคำท้วงติง คำเตือน เพื่อไปปรับปรุงแก้ไข การบริหารประเทศไม่อยากให้ทำการเมืองด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบ แล้วทิ้งภาระไว้ให้ประชาชนในวันอนาคต
.
นายราเมศกล่าวตอนท้ายว่าและขอนายกรัฐมนตรีเตือนคนของพรรคเพื่อไทยที่ออกมาแถลงข่าวโต้ตอบด้วยว่าอย่าทำตัวเหมือนโดนน้ำร้อนลวก ควรออกมาชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล แต่ที่ออกมาส่วนมากจะเอาประเด็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไปเลือกหัวหน้าพรรคให้ได้ก่อนถึงจะวิจารณ์คนอื่นได้นั้น แต่ในทางการเมืองพวกที่พูดเช่นนี้มีปัญหาทางสภาพจิตใจ ควรมีวุฒิภาวะในทางการเมืองให้มากกว่านี้ เรื่องเลือกหัวหน้าพรรคเป็นเรื่องภายใน เรื่องประชาธิปไตยภายในพรรคไม่มีใครมาชี้นิ้วสั่งได้ คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็ต้องมีการคัดสรร กลั่นกรองจากสมาชิก พรรค และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีใครกระทำการทุจริตแล้วติดคุกหรือต้องถูกยึดทรัพย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะมาโต้ตอบในทางการเมืองควรออกมาอย่างมีวุฒิภาวะอย่างผู้มีปัญญาด้วย
.