"แกนนำพปชร." ค้าน "รมว.พลังงาน" ช่วยราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแห

"แกนนำพปชร." ค้าน "รมว.พลังงาน" ช่วยราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแห จับตา แนวทาง ควักกระเป๋าของรัฐบาล หรือ ควักกระเป๋าบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เรื่อง ช่วยราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแห รายละเอียดดังนี้

ผมขอแนะนำ ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะช่วยราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแห ถ้าควักจากกระเป๋าประชาชนในที่สุด เมื่อวันที่ 16ต.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวว่า มีการนำเสนอต่อ ครม. แนวทางช่วยราคาเบนซิน 2 มาตราการ คือ

1.รัฐใช้เงินเดือนละ 95 ล้านบาทเศษ ช่วยเหลือมอเตอร์ไซด์รับจ้าง และ 2. รัฐใช้เงินเดือนละ 4,000 ล้านบาทเศษ ช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ 

โดยกล่าวว่าตนเองไม่เห็นด้วย เพราะต้องการลดราคาน้ำมันเป็นภาพรวม ไม่ใช่ช่วยเหลือเป็นกลุ่มๆ คือลดแบบน้ำมันดีเซล เช่น ลดไปลิตรละ 2.50 บาท เป็นต้น

ผมตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดของนายพีระพันธุ์ น่าจะไม่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1 เป็นการช่วยแบบเหวี่ยงแห แนวทางการลดราคาน้ำมันเป็นภาพรวม เช่น ลดไปลิตรละ 2.50 บาท นั้น จะต้องเกิดจากการปรับโครงสร้างการแบ่งกำไรในธุรกิจน้ำมันเป็นหลัก ถ้าการลดราคาเกิดจากรัฐบาลควักกระเป๋าเป็นหลัก เช่น ลดภาษีสรรพสามิต / ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม / ลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อันจะมีผลให้หนี้ของกองทุนฯ ซึ่งเป็นภาระของประชาชนต้องเพิ่มขึ้น

การลดราคาเช่นนี้เป็นการช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแห ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการลดราคาโดยรัฐบาลควักกระเป๋า นั้น จะไม่เฉพาะคนจน ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ประกอบการรายย่อย แต่ผู้ที่จะได้ประโยชน์ จะรวมไปถึงคนที่มีกำลังเงินสามารถช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว จะรวมไปถึงผู้ใช้รถหรูหรา จะรวมไปถึงผู้ใช้รถซูเปอร์คาร์

หลักคิดนี้ก็คือ เอาภาระเพิ่มขึ้น ให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ ย้ำ ‘ทั้งประเทศ ‘ แต่กลับไปจุนเจือ รวมไปถึงคนที่มีกำลังเงินสามารถช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว มีลักษณะเป็นการเหวี่ยงแห ไม่ต่างจากโครงการเงินดิจิทัล ที่แจกทั้งคนรวยและคนจน โดยไม่กังวลว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น

2 ไม่ promote การประหยัด การควักกระเป๋าจากฝ่ายรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแห นอกจากปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมแล้ว ยังจะต้องคำนึงถึงปัญหาราคาพลังงาน ที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นจากภูมิรัฐศาสตร์โลก ในภาวะราคาตลาดโลกสูงขึ้น รัฐบาลควรจะเน้นให้ประชาชนประหยัด

ดังนั้น แนวทางการลดราคาน้ำมันเป็นภาพรวม เช่น ลดไปลิตรละ 2.50 บาท นั้น จึงควรจะใช้นโยบายนี้ เฉพาะถ้ามีการรื้อโครงสร้างการแบ่งกำไรระหว่างผู้ประกอบการในแต่ละชั้นเท่านั้น ถึงเวลาแล้ว ที่ รมว.พลังงาน ผู้มีจุดมุ่งหมายจะทำงานให้แก่ประชาชน จะรื้อกติกาการโยงราคาน้ำมันในไทย กับโรงกลั่นที่สิงคโปร์

ถึงเวลาแล้ว ที่จะกำกับควบคุม ไม่ให้โรงกลั่นน้ำมันในไทย ฉกฉวยเอากำไรค่าการกลั่น สูงขึ้นตามสภาวะตลาดโลก
ถึงเวลาแล้ว ที่จะให้บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ต้องคืนกำไรให้แก่ประชาชนมากขึ้น

ผมจึงขอชี้แนะด้วยความเคารพ และจะรอฟังด้วยใจจดจ่อครับ ว่าแนวทางการลดราคาน้ำมันแบบภาพรวม ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเกิดขึ้นจาก การควักกระเป๋าของรัฐบาล (ซึ่งก็คือ ควักจากกระเป๋าของประชาชนในที่สุดนั่นเอง)หรือจะเกิดขึ้นจาก การควักกระเป๋าของบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนมากขึ้น

TAGS: #น้ำมันเบนซิน #ลดราคาพลังงาน #ธีระชัยภูวนาถนรานุบาล #ลดราคาน้ำมัน