เหมือนเป๊ะ "ไหม" สาวเจอต้นแบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่แท้มาจากญี่ปุ่น 

เหมือนเป๊ะ
 "ศิริกัญญา" ทวีต ต้นตำรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมาจากงานวิจัยประเทศญี่ปุ่น เปิดอ่านแล้วหลักเกณฑ์ "เหมือนเป๊ะ"


 
เมื่อวันที่ 20 ต.ค.66 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่าน X หรือทวิตเตอร์ @SirikanyaTansa1 ระบุว่า...

เจอแล้ว! ต้นกำเนิด digital wallet มาจากประเทศญี่ปุ่น วันก่อนคุณเผ่าภูมิแถลงว่า ใช้งานวิจัยตัวคูณของประเทศอื่นมาเทียบไม่ได้เพราะไม่เหมือนโครงการนี้ ที่ใส่เงื่อนไขใช้ในรัศมีจำกัด และใช้ได้ 6 เดือน เลยมีนักวิชาการส่งเปเปอร์มาให้ เปเปอร์นี้ทำวิจัยกรณีของญี่ปุ่นในปี 1999 ที่แจกคูปอง 2หมื่นเยน 31 ล้านใบให้ครอบครัวที่มีบุตร และผู้สูงอายุ คูปองใช้ได้เฉพาะร้านค้าในชุมชนเท่านั้น และมีอายุ 6 เดือน เหมือนเป๊ะ! ผลก็คือ ช่วยกระตุ้นการบริโภคสินค้ากึ่งคงทน (เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก) ได้ 0.1-0.2 เท่าของเงินที่ได้เท่านั้น และไม่มีผลช่วยกระตุ้นการซื้อสินค้าไม่คงทน (อาหาร น้ำมัน) หรือสินค้าบริการได้เลย การจำกัดเวลาใช้จะมีผลก็ต่อเมื่อปกติคนซื้อของน้อยกว่านั้น แต่การใช้ให้หมดตามระยะเวลา ก็อาจไปลดการซื้อสินค้าในอนาคตอยู่ดี การจำกัดรัศมีการใช้จะมีผลก็ต่อเมื่อปกติคนซื้อของในชุมชนน้อยกว่านั้น ถ้าปกติใช้มากกว่าก็ไม่มีผล เราไม่จำเป็นต้องเชื่องานวิจัยก็ได้ค่ะ แต่ก็ไม่ควรพูดเรื่อยโดยไม่มีข้อมูลมายืนยัน และถ้ายังดึงดันทำต่อ ก็ขอให้ตั้งโครงการประเมินผล เก็บข้อมูลก่อน-หลังโครงการ เปิดเผยให้ประชาชนรับรู้ และรับผิดรับชอบกับผลของโครงการที่จะเกิดขึ้นด้วยค่ะ
 

TAGS: #ดิจิทัลวอลเล็ต #ก้าวไกล #ศิริกัญญาตันสกุล #นโยบายเพื่อไทย