รมต.ประจำสำนักนายกฯ เผยเร่งประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล ให้เข้าถึงประชาชนมากสุด ไม่อยากให้มอง "ดิจิทัลวอลเล็ต" ด้านลบ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เล็งถกติ๊กต๊อก ทำสื่อให้เข้าถึงทุกวัย
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายกรัฐมนตรีเรียกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยไปหารือเพื่อกำชับในการทำนโยบายควิกวิน ว่า ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงสำคัญในการที่จะประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล เพื่อให้นโยบายของรัฐบาลเข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยชี้แจงว่านโยบายของรัฐบาลนั้นเป็นอย่างไร เราต้องทำความเข้าใจให้เยอะ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทว่าเอาเงินมาจากไหนและไปที่ไหน ใช้จ่ายอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ หรือเรื่องของค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท เรื่องการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส หลายเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เราต้องพยายามชี้แจงให้ทั่วถึงในทุกกลุ่ม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้คนไม่เข้าใจกันเยอะถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็อต 1 หมื่น จะมีแนวทางชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอย่างไร นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า หน่วยงานหลักที่จะต้องชี้แจงคือกระทรวงการคลัง ในส่วนของตนจะช่วยนำการชี้แจงไปสู่ประชาชนในทุกกลุ่มเป้าหมาย เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญของรัฐบาล เมื่อถามว่า จะมีการใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ไหนบ้างในการประชาสัมพันธ์เชิงรุก นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า จะเป็นสื่อทั่วไป รัฐบาลเองอยากให้สื่อได้ช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ อยากให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญของประเทศ อย่าไปมองเรื่องของรายละเอียด บางทีเหมือนเป็นอีกด้านหนึ่ง อย่าไปมองเป็นด้านลบ อยากให้มองเป็นด้านบวกที่รัฐบาลพยายามจะทำให้ดี ให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง
เมื่อถามว่า ทราบว่าทางติ๊กตอกจะเข้ามาหารือด้วยในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ จะมีแนวทางพูดคุยอย่างไรบ้าง นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ติ๊กตอกจะเป็นการอินเทรนด์ในเรื่องของมีเดีย เราพยายามทำในทุกสื่อ ทางติ๊กตอกไทยแลนด์ก็จะมาสอนเทคนิคและวิธีการทำติ๊กตอกต่างๆ ให้ดูทันสมัย และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกรุ่น ทุกวัย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชาสัมพันธ์นี้จะมีการใช้ไอโอเข้ามาช่วยหรือไม่ เพราะตอนนี้มีไอโอที่จ้องดิสเครดิตนโยบายของรัฐบาล นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ไม่มี เราจะไม่มีการตอบโต้ในเรื่องของไอโอเลย ไม่เคยคิดทำเรื่องนี้ เราจะพยายามชี้แจงของเฟคนิวส์ต่างๆ มากกว่า ถ้าเราเจอเฟคนิวส์หรือข่าวปลอม จะมีทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาช่วยเพื่อจะปิดเว็บไซต์ ปิดเฟคนิวส์ต่างๆ ขณะเดียวกัน จะมีหน่วยงานของกรมประชาสัมพันธ์ที่จะช่วยตรวจสอบด้วยว่าข้อมูลไหนเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลไหนเป็นข้อมูลเท็จ