"พริษฐ์" เสนอญัตติประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แจงยิบ 4 เหตุผล ขอสภาเห็นชอบ-แจ้ง ครม.ดำเนินการ ยืนยันหลักการเขียนใหม่ทั้งฉบับ-สสร.เลือกตั้งทั้งหมด มั่นใจเป็นประโยชน์ทุกฝ่าย-กลไกคู่ขนานคณะกรรมการศึกษาฯ
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ ให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายพริษฐ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าความสำเร็จของญัตตินี้ ไม่ได้รับประกันความสำเร็จของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญในการเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยหลักการและเหตุผลของญัตตินี้ แบ่งเป็น 4 องค์ประกอบหลัก
องค์ประกอบที่ 1 คือหลักการและเหตุผลว่าทำไมเราถึงจำเป็น ต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่าหากเราต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตยและนำพาการเมืองไทยกลับสู่สภาวะปกติ ภารกิจหนึ่งที่ขาดหายไม่ได้ คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้ง (1) ที่มา ไม่ได้ถูกขีดเขียนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ถูกขีดเขียนโดยคนไม่กี่คนที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร (2) กระบวนการ แม้จะผ่านการทำประชามติในปี 2559 แต่ประชามติดังกล่าวห่างเหินจากการเป็นประชามติที่เสรีและเป็นธรรมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล หลายคนที่ออกมารณรงค์คัดค้านร่าง ถูกจับกุมดำเนินคดี และ (3) เนื้อหา รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีหลายส่วนที่ทำให้ประชาธิปไตยเรามีความบกพร่อง เช่น การขยายอำนาจของหลายสถาบันหรือกลไกทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งทางการเมือง ในการขัดขวางหรือบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ดังนั้น เราจึงต้องยืนยันว่าการแก้ไขรายมาตราเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่จำเป็นต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งที่มา กระบวนการ เนื้อหา ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 100%
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า องค์ประกอบที่ 2 คือหลักการและเหตุผลว่า ทำไมเราจึงเสนอให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เริ่มต้นด้วยการจัดทำประชามติ
แม้พรรคก้าวไกลมีจุดยืนว่าควรเดินหน้าสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เราตระหนักดีว่าเป้าหมายนี้จะสำเร็จได้ จำเป็นต้องผ่านหลายขั้นตอน ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม หากจะดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เราจำเป็นต้องจัดประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง กล่าวคือ อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนมี สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอีก 1 ครั้ง หลังจาก สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว
สำหรับประชามติหลังจากที่ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ไม่ได้มีข้อถกเถียงอะไรเท่าไร เพราะเป็นการถามประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร. ยกร่างมาหรือไม่ แต่สำหรับประชามติก่อนที่มี สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตรงนี้เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในสังคม ว่าขั้นตอนต่างๆจะต้องเป็นอย่างไร หรือต้องทำประชามติกี่ครั้ง
สำหรับพรรคก้าวไกลและเพื่อนๆ สมาชิกรัฐสภาจากอีกหลายพรรค เราเคยยืนยันร่วมกันว่าในเชิงกฎหมาย หากอยากให้มี สสร. สิ่งที่เราต้องทำคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเพิ่มเรื่องกลไก สสร. เข้าไป โดยเริ่มต้นจากการยื่นร่างดังกล่าวเข้าสู่สภา หลังจากนั้น หากร่างดังกล่าวถูกพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในทั้ง 3 วาระ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256(8) กำหนดไว้อยู่แล้วว่าในเมื่อการแก้ไขดังกล่าว เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะต้องจัดประชามติหลังวาระ 3 และก่อนทูลเกล้า เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนโดยตรง
ซึ่งพอเป็นเช่นนั้น จะทำให้เรามีประชามติทั้งหมด 1 ครั้งก่อนมี สสร. ตรงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาทุกคนที่คิดแบบนี้ บางส่วนกลับไปมองว่าประชามติที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหมายถึง ไม่ได้หมายถึงประชามติที่จะต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ผ่าน 3 วาระของรัฐสภา แต่พวกเขาตีความว่าหมายถึงประชามติที่ต้องเพิ่มเข้าไปอีก 1 ครั้ง ก่อนจะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่รัฐสภา ซึ่งหากตีความเช่นนั้น จะทำให้เราต้องเพิ่มจำนวนประชามติที่ต้องจัดก่อนมี สสร. จาก 1 ครั้ง ขึ้นมาเป็น 2 ครั้ง
ดังนั้น ภายใต้ความเห็นที่แตกต่างกันว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้งก่อนมี สสร. แม้ในเชิงกฎหมาย ทางเรายังคงยืนยันว่าการทำประชามติแค่ 1 ครั้งก่อนการมี สสร. เพียงพอแล้ว แต่ในเชิงการเมือง ทางเรายอมรับได้ หากจะต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ครั้ง รวมกันเป็น 2 ครั้งก่อนจะมี สสร.
เพราะเราตระหนักดีว่า หากคงยืนยันมุมมองทางกฎหมายแบบเรา และเดินหน้ายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เข้าสู่สภาเลย สมาชิกรัฐสภาบางส่วนก็อาจใช้อำนาจตนเองปัดตกร่างดังกล่าว เหมือนที่พวกเขาเคยอ้างตอนปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เมื่อมีนาคม 2564 แต่ในทางกลับกัน หากเรายอมจัดประชามติเพิ่มขึ้น 1 ครั้งก่อนจะเสนอร่างเกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่สภาฯ ประชามติดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาในการถามความเห็นของประชาชนโดยตรงตั้งแต่ต้น ว่าพวกเขาอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่หาก ประชาชนลงมติเห็นชอบ ผลของประชามติดังกล่าว ก็จะเป็นหลักประกัน ที่ทำให้ไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนไหนมีเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆ ในการปัดตกเจตจำนงของประชาชน
นายพริษฐ์ กล่าวว่า องค์ประกอบที่ 3 คือหลักการและเหตุผล ว่าทำไมเราจึงเสนอคำถามประชามติ ตามที่ปรากฏอยู่ในญัตติ
แม้วันหนึ่ง หลายพรรคอาจดูเหมือนเห็นตรงกันว่าเราควรมีการจัดประชามติ เพื่อเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ “ปีศาจอยู่ในรายละเอียด” เสมอ และรายละเอียดที่สำคัญของการจัดประชามติทุกครั้ง คือตัว “คำถาม” ที่จะถูกถามในประชามติ ซึ่งเราเสนอว่าควรเป็นคำถามที่ใช้ข้อความว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?”
เหตุผลที่เราเสนอคำถามนี้มี 3 ประการ ได้แก่ เหตุผลแรก เป็นการถามประชาชนถึงหลักการสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนตระหนักดีว่าคงไม่สามารถถามรายละเอียดทั้งหมดกับประชาชนผ่านประชามติได้ แต่เกณฑ์ที่เราควรยึดคือ อะไรก็ตามที่เป็นหลักการสำคัญที่เราอยากให้การตัดสินใจอยู่ในมือประชาชนโดยตรง สิ่งนั้นควรถูกระบุในตัวคำถาม ส่วนอะไรก็ตามที่เป็นรายละเอียด ที่เราพร้อมให้ตัวแทนประชาชนไปหาข้อสรุปกันในรัฐสภา สิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องรวมอยู่ในตัวคำถาม
ถ้าถามว่าอะไรเป็นหลักการสำคัญที่ควรอยู่ในตัวคำถามประชามติ เราก็ต้องกลับมาตั้งหลักว่าเป้าหมายของทั้งหมดที่เราทำอยู่ ไม่ใช่เพียงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แค่ชื่อ แต่ต้องเป็น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย สะท้อนฉันทามติใหม่ของ ประชาชนทุกคนได้จริงๆ
เมื่อเป้าหมายเป็นเช่นนั้น จึงมองว่าหลักการที่สำคัญและควรถูกตัดสินโดยประชาชนโดยตรงตั้งแต่วันแรก มีอยู่ 2 หลักการ หลักการที่ 1 ที่ควรรวมในคำถาม คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะประชาชนย่อมมีความเห็นแตกต่างกันว่าส่วนไหนของรัฐธรรมนูญที่เขามองว่าเป็นปัญหาที่อยากเห็นการแก้ไข ดังนั้น เราไม่ควรกำหนดคำถามประชามติ ที่ไปคิดแทนประชาชน ว่าส่วนไหนควรแก้หรือไม่ควรแก้ แต่ควรต้องเปิดกว้างต่อทุกความเห็น
การเปิดให้เนื้อหาทั้งฉบับถูกแก้ไขได้ ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาทั้งหมดจะถูกแก้ไข เพราะหากมาตราใดในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นมาตราที่คนส่วนใหญ่มองว่าดีอยู่แล้ว มาตราเหล่านั้นก็ย่อมจะไม่ได้รับความเห็นชอบให้มีการแก้ไข
ในส่วนของข้อกังวลที่บางคนมี ว่าการเปิดให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ จะนำไปสู่ผลกระทบต่อรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐหรือไม่ ตนขอย้ำอีกรอบว่าไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นได้อยู่แล้ว เพราะมาตรา 255 ได้กำหนดชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตาม จะต้องไม่ทำ 2 อย่าง คือ (1) ไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ (2) ไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
หลักการที่สอง คือ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% ในขั้นพื้นฐาน หากเรายึดหลักการประชาธิปไตย ในเมื่อ สส. ที่มีอำนาจร่างกฎหมายทั่วไป ยังต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ดังนั้น สสร. ที่มีอำนาจร่างกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ จึงควรมีความยึดโยงกับประชาชนที่ไม่น้อยไปกว่า สส.
ยิ่งไปกว่านั้น หากเราไม่ต้องการให้ สสร. ถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นกระจกสะท้อนความหลากหลายในสังคม วิธีที่ดีที่สุด ไม่ใช่การมี สสร. แต่งตั้ง ที่มีความสุ่มเสี่ยงจะถูกแทรกแซงโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็น สสร. ที่ประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะจะเป็นตัวแทนของทุกชุดความคิดที่มีอยู่ในสังคม ตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ
ในส่วนของข้อกังวลที่บางคนมี ว่าการกำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะทำให้เราขาดผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหรือไม่ ตนต้องอธิบายอีกรอบว่า แม้ สสร. จะมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ สสร. ก็สามารถตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ที่อาจไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง เข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำหรือยกร่างได้
ทั้งนี้ เพื่อคลายข้อกังวลนี้เพิ่มเติม ตนขอแจ้งความคืบหน้าให้ทราบว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้มีมติตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมา เพื่อจัดทำข้อเสนอและทางเลือกเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ในการเลือกตั้ง สสร. เพื่อเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย และนำใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในอนาคต
ตนเข้าใจดีว่าในที่สุดแล้ว รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับ สสร. จะต้องถูกแปลงเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกนำกลับเข้ามาถกกันในรัฐสภาแห่งนี้ แต่ตนเชื่อว่าหากเรามีการถามประชาชนโดยตรงเกี่ยวกับหลักการใดๆ ก็ตามผ่านประชามติ และหากประชาชนส่วนใหญ่ลงมติกันอย่างท่วมท้นว่าเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าง คงไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนไหน กล้าฝืนผลของประชามติได้ลงคอ
เหตุผลที่สอง คำถามประชามติที่เราเสนอนั้น เป็นคำถามที่ ‘เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ’ ข้อวิจารณ์สำคัญต่อคำถามพ่วงในประชามติ 2559 ที่นำมาสู่มาตรา 272 ให้ สว. แต่งตั้งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คือข้อวิจารณ์ว่าคำถามวันนั้น ไม่ได้ถามเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการเขียนคำถามที่มีลักษณะ ซับซ้อนและชี้นำโดยเจตนา ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เราจึงได้เสนอข้อความคำถาม ที่เราคิดว่าน่าจะกระชับ เข้าใจง่าย และตรงไปตรงมาที่สุด
เหตุผลที่สาม คำถามประชามติที่เราเสนอนั้น เป็นคำถามประชามติที่ทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาฯ ชุดที่แล้ว เคยลงมติเห็นชอบมาก่อน โดยเป็นคำถามที่เคยถูกเสนอเป็นญัตติด่วน โดย สส. พรรคก้าวไกล คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และ สส. พรรคเพื่อไทย คือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2565
ยิ่งไปกว่านั้น ญัตติด่วนที่เสนอคำถามประชามติดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรจาก สส. ทุกพรรคการเมืองหลักที่เข้าประชุม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ดังนั้น สำหรับพรรคไหน หรือ สส. คนไหน ที่เคยลงมติเห็นชอบกับคำถามประชามติ ที่เรากำลังเสนอกันในวันนี้ ตนเชื่อว่าผ่านมาไม่ถึง 1 ปี ท่านคงไม่มีเหตุผลอะไร ที่ทำให้เปลี่ยนจุดยืนไปจากเดิม แต่หากท่านจะเปลี่ยนจุดยืนจริงๆ ก็หวังว่าท่านจะลุกขึ้นมาอธิบายต่อหน้าสภาฯ และต่อหน้าประชาชนที่รับชมอยู่ ว่าทำไมจุดยืนท่านจึงเปลี่ยนไป