“วุฒิสภา”คว่ำญัตติทำประชามติยกร่าง รธน.ฉบับใหม่

“วุฒิสภา”คว่ำญัตติทำประชามติยกร่าง รธน.ฉบับใหม่
ประชุม“วุฒิสภา” คว่ำญัตติทำประชามติยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ ด้วยเสียง  157 ต่อ 12 คะแนน 

การประชุมวุฒิสภา ที่มีพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ว่าด้วยการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติที่ขอให้ส่งเรื่องให้ คณะรัฐมนตรี  (ครม.)ทำประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

โดยการอภิปรายของ ส.ว.นั้นมีความเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งสนับสนุนรายงานของ กมธ.และอีกฝั่งที่ค้านรายงานของ กมธ.และมองว่าควรดำเนินการเห็นชอบเพื่อส่งให้ ครม.พิจารณา

ส.ว.ฝั่งที่สนับสนุนให้ลงมติเห็นชอบญัตติของสภาฯ เนื่องจากมองในประเด็นหลักการของกฎหมายประชามติที่ให้อำนาจ ครม.เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการออกเสียงประชามติตามที่รัฐสภาเสนอหรือไม่ อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.อภิปรายสนับสนุนให้ออกเสียงเห็นชอบ เพราะตามกระบวนการของกฎหมายประชามติ ในหลักการกำหนดให้เป็นอำนาจของ ครม.ไม่ใช่วุฒิสภา ดังนั้น ส.ว.ไม่ควรขัดขวาง

ขณะที่ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว.อภิปรายสนับสนุนต่อการจัดให้มีการออกเสียงประชามติทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมองว่าหากผลประชามติเห็นด้วยจะเป็นช่วงที่ ส.ว.ชุดปัจจุบันมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบด้วยจำนวน 1 ใน 3 ซึ่งสามารถยับยั้งได้ แต่หากปล่อยให้อำนาจ ส.ว.หมดไป รอให้มี ส.ว.ชุดใหม่ที่มาจากพรรคการเมือง ยิ่งแก้ไขง่ายกว่าปัจจุบัน และการกำหนดประเด็นคำถามสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมได้

ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.อภิปรายว่า จากการศึกษาของ กมธ.พัฒนาการเมือง พบว่าถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะบังคับใช้มา 5 ปี พบความขัดแย้ง และจากการศึกษาของสถาบันพระปกครองพบว่ามีหลายประเด็นที่่ควรแก้ไข อย่างไรก็ดี การลงมติของ ส.ว.นั้น ตนมองว่าควรเห็นชอบกับสภาฯ เพราะ ส.ว.มีหน้าที่เป็นสะพานทอดให้ ครม.พิจารณาต่อ และเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การเมืองแล้วเพื่อไม่ให้ ส.ว.ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ถูกหยิบยกหรือกล่าวอ้างได้

ส่วน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.อภิปรายว่าสนับสนุนนายเสรี และควรจะเห็นด้วย เพื่อให้ ส.ว.ที่มีวาระเหลืออยู่ 1 ปีกว่า จะได้ส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งได้ภาพที่ดี และไม่เกิดความเสียหายกับองค์กรใด โดยตามการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มจากการทำประชามติ หากไม่เริ่มต้นกระบวนการทำประชามติ คำถามประชามติที่ยังไม่สมบูรณ์ ครม.มีอำนาจเต็มในการปรับปรุงแก้ไข อย่างไรก็ดี หาก ส.ว.ไม่เห็นชอบอาจเสียโอกาสที่เป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของ ส.ว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.ถูกพรรคการเมืองใส่ร้ายป้ายสี ไม่เห็นเงาประชาชน

ขณะที่ ส.ว.ฝั่งที่เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ.นั้น สะท้อนความกังวลต่อการให้อำนาจอื่นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจกระทบต่อการเมืองการปกครองของประเทศไทยที่ยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงไม่ถูกกาลเทศะของการแก้ไข อาทิ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. , พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. , นายประพันธุ์ คูณมี ส.ว.เป็นต้น

โดยการลงมติผลปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบให้รัฐสภาส่งญัตติเสนอการออกเสียงประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ ครม. ดำเนินการ ด้วยคะแนน 157 ต่อ 12 เสียง

TAGS: #ประชามติ #วุฒิสภา #การเมือง #ยกร่างรธน.