โอสถสภา มุ่งมั่นลดผลกระทบจากบรรจุภัณฑ์ ขับเคลื่อนโครงการจากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว (Bottle to Bottle) ต่อเนื่องปีที่ 3 ขยายความร่วมมือองค์กรพันธมิตรและชุมชนโดยรอบ เผยยอดรับขยะขวดแก้วสะสมจากพันธมิตรในโครงการฯ ตลอด 3 ปีรวม 118,064 กิโลกรัม
โครงการจากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว (Bottle to Bottle) ได้รับขยะรีไซเคิลจากชุมชนและเครือข่ายพันธมิตรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดโครงการฯ ได้รับขยะขวดแก้วเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวจากปีก่อนหน้า และตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการฯ สามารถนำขวดแก้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแล้วทั้งสิ้น 118,064 กิโลกรัม (ประมาณ 118 ตัน) ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 33,057.92 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ 3,124.36 ต้น และ เทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 294,215,49 ต้นตลอดระยะเวลา 1 ปี
สุธิดา เสียมหาญ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บมจ. โอสถสภา กล่าวว่า “จากสถิติที่ผ่านมาโอสถสภาพบว่า ชุมชนและองค์กรพันธมิตรได้ส่งมอบขยะขวดแก้วให้แก่โครงการฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของโครงการฯ โอสถสภาจึงเดินหน้าขยายโครงการฯ และสร้างเครือข่ายพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง จากชุมชนสู่ชุมชน จากองค์กรสู่องค์กร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำขยะขวดแก้วกลับมารีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน”
หนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนปี 2568 ของโอสถสภา คือ การลดผลกระทบที่เกิดจากของเสียบรรจุภัณฑ์และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืนและริเริ่มโมเดลจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านโครงการ “จากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว” (Bottle to Bottle) ในปี 2564 โดยดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลาย รวมถึงชุมชนโดยรอบ ผ่านความร่วมมือหลักใน 3 โครงการ ได้แก่ ชุมชนรอบข้างสำนักงานใหญ่โอสถสภา ชุมชนคุ้งบางกะเจ้าที่มีวัดจากแดงเป็นศูนย์กลาง และ บริษัทพันธมิตรของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ โอสถสภาได้มอบถังขยะสำหรับคัดแยกขยะให้แก่ชุมชนและองค์กรพันธมิตร มีการส่งจิตอาสาลงพื้นที่เพื่อแนะนำการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี
นอกจากนี้ โอสถสภายังสมทบทุน 50 สตางค์ต่อขยะขวดแก้ว 1 กิโลกรัม แล้วนำไปแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในเครือโอสถสภาในมูลค่าที่เท่ากัน มอบให้ชุมชน และองค์กรพันธมิตรเพื่อสาธารณประโยชน์ต่อไป
ในปีแรกเริ่มต้นนำร่องกับ 2 ชุมชนรอบข้างสำนักงานใหญ่ ย่านหัวหมาก ซึ่งมีบ้านเรือนเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 200 ครัวเรือน จากนั้นจึงได้ต่อยอดโมเดลดังกล่าวสู่พื้นที่ชุมชนอื่นๆ โดยจับมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริมให้ชุมชนคุ้งบางกระเจ้า ซึ่งมีวัดจากแดงเป็นศูนย์กลางในการรับคัดแยกขยะของชุมชนและยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการรีไซเคิลขยะอีกด้วย
นอกจากนั้น โอสถสภาได้จับมือกับบริษัทพันธมิตรของตลาดหลักทรัพย์ ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการจัดการขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ Care the Whale ขยะขวดแก้วล่องหน โดยในปี 2565 มีพันธมิตรเข้าร่วม 13 บริษัท และในปี 2566 นี้ได้รับความร่วมมือเพิ่มขึ้นอีก 9 บริษัท รวมเป็น 22 บริษัท ซึ่งประกอบด้วย อาคารสำนักงานอาคารที่พักอาศัยต่างๆ ทั้งในและนอกย่านถนนรัชดาภิเษก
โครงการจากขวดแก้วสู่ขวดแก้ว (Bottle to Bottle) นับเป็นเครื่องยืนยันถึงพลังสำคัญของผู้ประกอบการและชุมชนในการดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อม โอสถสภาจะยังคงเดินหน้าเพื่อเป็นต้นแบบและพลังสำคัญในการบรรลุเป้าหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างเส้นทางสู่ความยั่งยืนร่วมกัน