จะเกิดอะไรขึ้น หากปีนี้ไม่ได้สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ปี 2567 ยังมีเรื่องท้าทายด้านพลังงานอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ
คนส่วนใหญ่รู้สึกคล้ายๆ กันว่า ปี 2566 ช่างผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ ซึ่งตลอดทั้งปีก็มีเรื่องราว และเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ที่อาจไม่ตื่นเต้นเร้าใจเท่าสถานการณ์ทางการเมือง จึงขอหยิบยกเรื่องราวสำคัญด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในปีนี้มาให้ผู้อ่านได้คิดตามไปด้วย แต่เป็นการเล่าแบบ What if หรือ “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า......”
เรื่องแรก จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช แปลง G2/61 ในช่วงต้นเดือนมีนาคม เราก็อาจผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปริมาณที่ลดลง ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมราคาค่าไฟฟ้าให้แพงยิ่งขึ้น เพราะโรงไฟฟ้าหลักในประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ยิ่งไปกว่านั้น หากการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งบงกช ยังอยู่ภายใต้ระบบสัมปทานเดิม ก็จะมีราคาก๊าซสูง และส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย แต่ปรากฎว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ช่วยให้ราคาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกช ปรับลดลงจากเดิมประมาณ 107-152 บาท (เดิมมีราคา 279-324 บาทต่อล้านบีทียู) ทำให้ลดลงเหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ราคาก๊าซมีมูลค่าลดลงรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท (นับจากเดือนมีนาคม ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2566) ช่วยให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องแบบไร้รอยต่อ สร้างเสถียรภาพของราคาก๊าซธรรมชาติที่จะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างสมเหตุสมผล
เรื่องที่ 2 ก็คือ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่มีการลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย รวมจำนวน 3 แปลง (หมายเลข G1/65 G2/65 และ G3/65) ขนาดพื้นที่รวมกว่า 35,000 ตารางกิโลเมตร อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต เพราะการสำรวจหาก๊าซธรรมชาติจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี จากนั้นก็จะมีขั้นตอนในการติดตั้งแท่นขุดเจาะ แท่นผลิต และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งใช้เวลาอีกประมาณ 3-5 ปี ซึ่งหากไม่มีการลงนามสัญญาพื้นที่ 3 แปลงดังกล่าวในปีนี้ กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานสำรวจก็จะต้องเลื่อนออกไปอีก ซึ่งในที่สุดแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงดังกล่าว กับทั้ง บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยให้การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่เดินหน้า และในอนาคตหากสำรวจพบปิโตรเลียม และสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มได้ ก็จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว รวมทั้งลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศด้วย
เรื่องที่ 3 จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมเพื่อทดแทนก๊าซที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุขัดข้องในการติดตั้งหลุมผลิตปิโตรเลียมในแหล่งก๊าซเอราวัณ ทำให้การปฏิบัติงานต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป ทำให้แหล่งก๊าซเอราวัณไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไปเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2566 ตามแผนที่เคยวางไว้ได้ ซึ่งนั่นจะทำให้ประเทศไทยต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้า LNG จากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เอง และจะกระทบต่อต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประชาชน
อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้บริหารจัดการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศมาทดแทนปริมาณจากแหล่งเอราวัณที่ยังไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งที่มีศักยภาพในประเทศไทย ได้แก่ 1. เพิ่มกำลังผลิตในแหล่งบงกช อีก 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 2. เพิ่มกำลังผลิตก๊าซจากแหล่งอาทิตย์อีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับแหล่งก๊าซยาดานา ในประเทศเมียนมา ให้รักษากำลังผลิตให้นานที่สุด และเลื่อนแผนลดกำลังการผลิตในช่วงเวลานี้ออกไปก่อน รวมทั้งประสานงานการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย (JDA) เพื่อขอใช้ก๊าซในช่วงที่มาเลเซียมีความต้องการใช้ไม่มาก เพื่อให้ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น
สำหรับในปี 2567 ยังมีเรื่องท้าทายด้านพลังงานอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัด สนับสนุน ให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติให้เป็นไปตามแผนโดยเร็ว รวมถึงกรมฯ มีแผนเกี่ยวกับการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่บนบก (รอบที่ 25) เพื่อให้สามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว และลดผลกระทบด้านราคาพลังงานให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน