เจาะเหตุผลที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต้องคำนึงถึงหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

เจาะเหตุผลที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต้องคำนึงถึงหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน”
ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ วิธีการดำเนินธุรกิจที่เน้นการสร้างความยั่งยืนและทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด

เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ วิธีการดำเนินธุรกิจที่เน้นการสร้างความยั่งยืนและทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ผ่านการแบ่งปันทรัพยากร การใช้ซ้ำ การรีไซเคิลและการตกแต่งซ่อมแซมผลิตภัณฑ์เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เกิดขึ้นเพื่อมาแทนที่แนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear-Economy) ที่เน้นการผลิตและการบริโภคอย่างไม่จำกัด และจบด้วยการกําจัด

ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งความจําเป็นในการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งถือเป็นกระแสที่น่าจับตามองในหลายประเทศ 

ความยั่งยืนจึงถือเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ สําหรับภาคธุรกิจโลจิสติกส์ที่เริ่มต้นจากการให้บริการรับฝากและจัดส่งสินค้าเราจึงมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดี ในการออกแบบกระบวนการปฏิบัติงานแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ต่ำลง ผ่านการปรับใช้แนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน หรือ Circular Economy เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่นี้ เป็นโอกาสที่ดีในการบูรณาการหลักการที่ยั่งยืนเข้ากับการดําเนินธุรกิจโลจิสติกส์ และเทรนด์หนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่น่าสนใจอย่างมาก คือ การจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics) เป็นการขนส่งสินค้าจากลูกค้าปลายน้ำกลับมายังผู้ขายหรือผู้ผลิตที่ต้นน้ำ

ความสําคัญของการจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics)

โลจิสติกส์ย้อนกลับ ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยในปี พ.ศ. 2565 ตลาดโลจิสติกส์ย้อนกลับทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 939 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยราว 31 ล้านล้านบาท) และมีอัตราการเติบโตที่ 12.3% ต่อปี

โลจิสติกส์ย้อนกลับเอื้อให้เกิดการยืดอายุของทุกผลิตภัณฑ์ สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เน้นการเช่าซื้อแทนการขาย และให้มีการซ่อมแซมและบํารุงรักษา เพื่อลดต้นทุนรวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอีคอมเมิร์ซจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยและธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตขึ้นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2566 มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 9 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับแรงหนุนจากผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการอีคอมเมิร์ซกันมากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้นจากผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดฯ อย่าง ลาซาด้า (Lazada) และ ช้อปปี้ (Shopee) รวมถึงการมาของแพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซ อย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook) และ ติ๊กต็อก (TikTok) โดยคาดว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 ต่อปี

ในปัจจุบัน การแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดอีคอมเมิร์ซเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ผู้ประกอบการและร้านค้าออนไลน์ควรพิจารณานำโลจิสติกส์ย้อนกลับมาปรับใช้ในการจัดการขนส่งสินค้ากันมากขึ้น เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม

โดยรูปแบบโลจิสติกส์ย้อนกลับที่ธุรกิจร้านค้าออนไลน์สามารถนำมาปรับใช้ได้ ประกอบด้วย

  1. การจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการขนส่ง อย่างที่ เฟดเอ็กซ์ เราได้ร่วมมือกับ N15 ในการนำขยะจากการดำเนินงานของเรามารีไซเคิล โดยใช้เทคโนโลยีแปลงขยะให้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) สำหรับโรงงานผลิตปูน
  2. การนำการจัดการโลจิสติกส์ย้อนกลับมาปรับใช้ใน การยืดวงจรของการใช้งานสินค้า รวมทั้งวัสดุ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะหมุนเวียนอยู่ในระบบการใช้งานให้ได้นานที่สุด จากการซ่อมแซม แลกเปลี่ยน หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สามารถปรับใช้งานกับวัสดุหรือส่วนประกอบของสินค้าแบบเก่าได้ ซึ่งในประเทศไทย เฟดเอ็กซ์ ได้ร่วมกับบริษัท SC Grand นำชุดยูนิฟอร์มเก่ากว่า 200 ชิ้น มารีไซเคิลให้เป็นเส้นด้ายเพื่อถักทอเป็นหมวกแก๊ปให้พนักงานส่งของได้ถึง 700 ชิ้น  
  3. ซ่อมแซมและปรับปรุง เป็นอีกหนึ่งบริการใหม่ที่ผู้ผลิตนำเสนอแก่ผู้บริโภค เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าส่งคืนสินค้าที่ใช้แล้วให้กับบริษัทเพื่อนำกลับมาผลิตใหม่ เป็นการยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และเพื่อที่จะให้ลูกค้าคนอื่น ๆ ได้มีโอกาสใช้งานมันอีกครั้ง   
  4. ธุรกิจควรริเริ่มมองหาวิธีการรีไซเคิล หรือ การจัดการของเสีย แม้กระทั่งสิ่งของที่หมดอายุการใช้งานแล้วก็ตามอย่างเช่น การที่หลาย ๆ แบรนด์เสนอสิทธิประโยชน์พิเศษให้แก่ลูกค้าผู้ที่บริจาคสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วเพื่อให้บริษัทสามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่วนมากสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้โดยง่าย  
  5. ในปัจจุบัน ได้มีการออกมาตรการสำหรับกระบวนการคืนสินค้าที่ชัดเจนและเรียบง่ายซึ่งลูกค้าสามารถส่งคืนสินค้าที่ไม่ต้องการ เพื่อเปลี่ยนหรือขอคืนเงินได้อย่างง่ายดาย และสินค้าที่ส่งคืนเหล่านี้จะกลายเป็นตัวเลือกหลักสําหรับการรีไซเคิลหรือการนำไปขายต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการดังกล่าวนี้ เฟดเอ็กซ์ ได้มีการออกแบบซองส่งพัสดุ (Reusable Pak) ที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้หลายครั้ง สำหรับการส่งคืนสินค้าหรือการส่งพัสดุในโอกาสถัดไป

โอกาสสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ย้อนกลับในประเทศไทย

สำหรับธุรกิจรายย่อยในประเทศไทย การนำเสนอบริการโลจิสติกส์ย้อนกลับจะส่งผลดีต่อการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ เรื่องความยั่งยืนยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซควรคำนึงถึงเพื่อทำให้ธุรกิจของตนเองแตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ  จากรายงาน What’s Next in E-Commerce Survey ของเฟดเอ็กซ์ แสดงให้เห็นว่าจาก 9 ใน 10 ของผู้บริโภคในประเทศไทย คาดหวังว่าเหล่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่พวกเขาใช้บริการและซื้อสินค้าจะยึดมั่นและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน นอกจากนี้ยังพบว่า 8 ใน 10 คน จะเลือกซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากธุรกิจที่สามารถดำเนินธุรกิจโดยปฏิบัติตามหลัก ESG และนำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจจะมองเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาว่ากระบวนการนี้เป็นการสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างลูกค้าและร้านค้า ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วยกระบวนการโลจิสติกส์และโลจิสติกส์ย้อนกลับ และเมื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนหยั่งรากลึก ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นการตอบสนองแบบสองทาง แทนที่ธุรกรรมทางเดียวแบบที่เคยเป็นมา

TAGS: #เศรษฐกิจหมุนเวียน #โลจิสติกส์ #FedEx