ประเทศไทยจับมือองค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดทิศทาง การสร้างงานที่มีคุณค่า มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยจับมือองค์การแรงงานระหว่างประเทศกำหนดทิศทาง การสร้างงานที่มีคุณค่า มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ภาครัฐ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง ร่วมกับ ILO จัดทำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า 2566-2570 มุ่งสร้างความพร้อมตลาดแรงงาน  เพื่อการสร้างงานที่มีคุณค่าและประสิทธิผลในประเทศไทย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า “แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าฉบับนี้หรือ DWCP ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ((Sustainable Development Goals - SDGs)  การดำเนินการตามแผน DWCP จะไม่ประสบความสำเร็จได้ด้วยกระทรวงแรงงานเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายตามแผน DWCP ได้ในที่สุด”

 

แผนงาน DWCP เป็นกรอบการดำเนินงานหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จะให้การสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่มีอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทและเป็นความท้าทายที่สำคัญมากขึ้นสำหรับแรงงานในอนาคต  แผนงาน DWCP ฉบับนี้จะเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการบริการจัดหางานภาครัฐที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุและการส่งเสริมให้เยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษาและการจ้างงานที่เหมาะสมกับช่วงวัย ให้สอดคล้องกับกำลังแรงงานที่ลดลงและให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างการศึกษาและทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน  

 

นอกจากนี้ แผนงานดังกล่าวยังให้ความสำคัญในการสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Jobs) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายๆ ภาคธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาทักษะที่จะนำไปสู่ความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

 

วัตถุประสงค์หลักของแผนงานดังกล่าวยังรวมถึง การให้ความสำคัญกับกำลังแรงงานในด้าน                  ความเสมอภาคทางเพศ การเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอัตราค่าจ้าง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการจ้างงานคนพิการและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานข้ามชาติ

 

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “องค์กรสภานายจ้างแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนและดำเนินการตามประเด็นหลักในแผนระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าฉบับที่สองนี้ ซึ่งจะช่วยให้เรายกระดับมาตรฐานการทำงาน และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  อันเป็นแนวทางเดียวกับพันธกิจขององค์กรเรา”

 

แผนงาน DWCP ยังตั้งเป้ารับมือกับความท้าทายทางด้านการขยายการคุ้มครองทางสังคมที่มีสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม เพียงพอ และครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบ การพัฒนาระบบประกันสังคม           ให้ครอบคลุม เข้มแข็ง ให้กับแรงงานทุกคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวเสริมว่า “แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า 2566-2570 เป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องที่สำคัญระหว่างองค์กรของแรงงาน กระทรวงแรงงานซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ  องค์กรนายจ้าง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ            ในอันที่จะสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนในประเทศไทย  และเป็นแผนงานที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน”

 

เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ให้ไว้ต่อมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ  แผนงาน DWCP ยังได้ให้ความสำคัญกับการให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามอนุสัญญาสำคัญต่างๆ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม การเจรจาต่อรองร่วม และความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน

 

นายออคตาเวียนโต พาซาริบู ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย  กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า “ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายและมีโอกาสมากมายจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกแห่งการทำงาน ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด        กับรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ILO จะช่วยให้เรากำหนดอนาคต และสร้างงานที่มีคุณค่าให้แก่ทุกคนได้ ในที่สุด”

 

แผนงาน DWCP ฉบับปี 2566-2570 พัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือและการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวางระหว่างรัฐบาลไทย องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ

 

แผนงาน DWCP ฉบับใหม่นี้พัฒนาต่อเนื่องมาจากแผนงานปีพ.ศ. 2562-2565 ซึ่งเป็นฉบับแรกและสอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติของรัฐบาล  กรอบความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติปี 2565-2569 (UNSDCF 2022-2026)  และถ้อยแถลงสิงคโปร์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (the ILO’s Singapore Statement) ที่ประกาศไปเมื่อเดือนธันวาคม 2565  การดำเนินการดังกล่าวอาศัยความร่วมมือในฐานะพันธมิตรระหว่างภาครัฐ องค์กรตัวแทนนายจ้าง และองค์กรตัวแทนลูกจ้าง โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และจากนานาชาติ

 

 

 

TAGS: #กระทรวงแรงงาน #แรงงาน #พิพัฒน์ #รัชกิจประการ