สกสว. – สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โชว์ความสำเร็จการใช้วิจัยสร้างความเชื่อมั่นในระบบการแพทย์ฉุกเฉินตลอดปี 2564 – 2567 สร้างประโยชน์ได้อย่างครอบคลุม ในกลุ่มนักเรียน ผู้สูงวัย นักกีฬา และผู้ป่วยกลุ่มจิตเวช
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ร่วมแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจทิศทางการบริหารจัดการโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้หน่วยรับงบประมาณมีศักยภาพในการดำเนินการวิจัย และสามารถนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ และเกิดประโยชน์จากการใช้งบประมาณด้าน ววน. อย่างสูงสุด
รศ. ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน.ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวถึง ภาพรวมระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศและการบริหารจัดการงบประมาณ ข้อมูลการรับงบประมาณจากกองทุน ววน. ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1. งบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม
2. งบประมาณด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 3. งบประมาณด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (RU) พร้อมอธิบายถึงแนวทางการติดตามและประเมินผลหน่วยรับงบประมาณ หลักการและแนวทางการจัดทำ Impact Pathway & Delivery Plan และได้แนะนำถึงข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการจัดทำคำขอให้แก่หน่วยรับทุน
ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ. มีศูนย์วิจัยและนวัตกรรมในการบริหารแผนดำเนินงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งบริหารพัฒนาคุณภาพ เผยแพร่วิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการนำไปใช้ประโยชน์และมีระบบการประเมินผล พัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การต่อยอดขยายผลทั้งในเชิงนโยบายและใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานวิจัยของ สพฉ. ภายใต้กองทุน ววน. ช่วงปีงบประมาณ 2564 – 2567 มีจำนวน 6 แผนงาน 47 โครงการ
โดยงานวิจัยผ่าน 4 กลุ่มเป้าหมายเฉพาะรวมทั้งหมด 7 เรื่อง คือ
1. นักเรียน จำนวน 1 เรื่อง การวิจัยและพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินในโรงเรียน ที่ต้องการปลูกฝังความรู้และทักษะด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับเด็ก ๆ ผ่านระบบการศึกษาในชั้นเรียน
2. ผู้สูงอายุ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ ผลโปรแกรมบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหักแบบครบวงจร การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขยายผลปฏิบัติการพัฒนา ระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และการศึกษาประสิทธิผลของระบบการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดเอสทียก (STEMI) อย่างไร้รอยต่อและบูรณาการในพื้นที่
3. นักกีฬา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ การออกแบบระบบฐานข้อมูลการแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับการแข่งขันกีฬาในประเทศไทย และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการแพทย์ฉุกเฉิน สำหรับการแข่งขันกีฬาที่มีภาวะมวลชนในประเทศไทย
4. ผู้ป่วยจิตเวช จำนวน 1 เรื่อง คือ การนำไปใช้และการติดตามประเมินผลระบบการ แพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินจิตคลุ้มคลั่ง แบบบูรณาการในประเทศไทย