ไทยเปิดก้าวแรก โครงการนำร่อง หลักสูตรปริญญาร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้านสะเต็มศึกษา (Thai-US Joint-degree Sandbox for STEM Teacher Education Program) พลิกโฉมการพัฒนาครู
โครงการครุศึกษายุคใหม่ SEA-TEP (Southeast Asian Teacher Education Program) ในระดับภูมิภาค ภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และพันธมิตรภาคการศึกษาอีกมากมายโดยจากที่ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาครูไทยให้ก้าวไกลสู่มาตรฐานระดับโลก จึงให้การสนับสนุนโครงการฯ ผ่านกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนก้าวสำคัญของการศึกษาไทย แต่ยังตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนคุณภาพที่สอดรับกับยุคสมัย
พร้อมตั้งเป้าเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อเตรียมความพร้อมแก่นิสิตนักศึกษาครูและครูประจำการให้มีคุณภาพระดับสากลผ่านการผสานหลักสูตรของสถาบันเครือข่ายการศึกษาในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาโดยมีทั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นักการศึกษา ผู้กำหนดหลักสูตรและนโยบายจากหลากหลายประเทศในเครือข่ายเข้าร่วมงานที่นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาครูจากต้นน้ำจากระดับประเทศสู่ภูมิภาค
จากงานวิจัยของประเทศไทยที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะครูวิชาชีพในอนาคตที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน ทั้งจากรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (ICER) เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า หลักสูตรการพัฒนาครูในปัจจุบันให้ความสำคัญกับทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติ และจากผลการประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของนักเรียนไทยอายุ 15 ปีที่ไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โครงการนำร่องนี้จึงถือเป็นการตอบสนองต่อความจำเป็นในการปรับปรุงการผลิตและพัฒนาครูเพื่อยกระดับความสามารถของนักเรียนไทยให้สูงขึ้น พร้อมเตรียมรับความท้าทายในศตวรรษที่ 21
ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการฯ ว่า “ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ในฐานะองค์กรระหว่างรัฐบาลส่วนภูมิภาค ยินดีอย่างยิ่งที่ภาคีด้านการศึกษาในโครงการ SEA-TEP ทั้งประเทศไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และคาซัคสถาน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับการพัฒนาหลักสูตรครูสะเต็มผ่านโครงการนำร่อง หลักสูตรปริญญาร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้านสะเต็มศึกษา ซึ่งต่อยอดจาก SEA-TEP นี้ จึงเปรียบเสมือนการเริ่มต้นบทถัดไปของการศึกษาไทยเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการสร้างโมเดลพัฒนาครูสะเต็มที่มีคุณภาพ เพื่อปรับใช้ในบริบทการศึกษาของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ความเชี่ยวชาญและเครือข่ายด้านการศึกษาที่สั่งสมจากการสนับสนุนของบริษัท เชฟรอน ที่ดำเนินโครงการเพื่อสังคมในการพัฒนาสะเต็มศึกษาในประเทศไทยและภูมิภาคนานเกือบหนึ่งทศวรรษ โครงการนี้จึงเป็นการต่อยอดการพัฒนาที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรการศึกษาได้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านสะเต็มศึกษาขึ้นซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาครูให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ พร้อมช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการศึกษาด้านสะเต็มให้กับภูมิภาคในอนาคต”
เพื่อเน้นย้ำเป้าหมายของโครงการฯ ที่มุ่งพัฒนาหลักสูตรนำร่องเป็นแนวทางพัฒนาครูจากต้นน้ำ ภายในงานได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักการศึกษา คณาจารย์ในเครือข่ายโครงการ SEA-TEP ทั้งจากประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และคาซัคสถาน โดยเน้นถึงวิธีการจัดการเรียนรู้ที่เตรียมนิสิตนักศึกษาครูและครูประจำการให้สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ พร้อมทั้งประยุกต์ใช้หน่วยการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพในการเรียนการสอน โดยให้ความสำคัญกับทักษะการคิดวิเคราะห์ ประเมินข้อมูล ใช้หลักฐานและหลักการทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนข้อสรุปและสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ และที่สำคัญคือต้องสามารถประยุกต์ทักษะเพื่อแก้ปัญหาจริงได้ โดยแต่ละประเทศได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการนำไปปรับใช้ตามบริบทพื้นที่ของตนอย่างเป็นรูปธรรม
“หลักสูตรครูในปัจจุบัน จำเป็นต้องเน้นการฝึกปฏิบัติที่เข้มข้นมากกว่าทฤษฎีเพื่อใช้ในการสอนได้จริง และเน้นให้ครูจัดการเรียนรู้ให้เด็กคิดและแก้ปัญหาได้ รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้เด็กสนุก เรียนรู้ได้ดีขึ้น” ดร.มนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กล่าวเสริมถึงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนโครงการฯ ว่า “เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขยายผลหลักสูตรพัฒนาครูให้เกิดขึ้นจริงในระดับประเทศ ความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทางคุรุสภาจึงทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับพลังของการร่วมมือกันระหว่างอาจารย์ในวิชาชีพเดียวกันว่า
ถึงแม้จะมาจากต่างมหาวิทยาลัยกัน แต่ทุกฝ่ายสามารถช่วยกันยกคุณภาพหลักสูตรคุรุศึกษาร่วมกันได้ สถาบันทั้ง 7 แห่งที่สนใจร่วมมือกันนี้ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
รวมถึงเราได้ร่วมมือกับพันธมิตรสถาบันการศึกษา และเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ มหาวิทยาลัยอิลลินอย เออร์แบนา-แชมเปญจน์ และมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต เพื่อนำร่องพัฒนาโมเดลหลักสูตรร่วมที่มีคุณภาพสูงและเหมาะสมกับการพัฒนาครูสะเต็มในยุคปัจุบัน ซึ่งมีการรับรองคุณภาพและการประเมินที่ตรงตามมาตรฐานระดับสากล โดยเรามองว่านอกจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่ครูไทยแล้ว ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของประเทศตนเองได้อีกด้วย”
ดร.มนตรี ยังกล่าวเสริมว่า “ความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษจะเป็น ‘ประตูบานหลัก’ ให้ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ได้เข้าถึงแหล่งความรู้ และเครื่องมือการเรียนการสอนจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก โดยหลักสูตรปริญญาร่วมจะจัดการเรียนรู้ด้วยภาษาอังกฤษ อีกทั้งใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการเนื้อหา การประเมินผลและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาและคณาจารย์ระหว่างสถาบันด้วย เพื่อเสริมความสามารถให้กับครูยุคดิจิทัลสอดคล้องกับนโยบายของประเทศในการพัฒนากำลังคนสำหรับอนาคตไปพร้อมๆ กัน”
ด้าน มร. โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ให้เกียรติร่วมงานเปิดตัวโครงการฯ พร้อมกล่าวเสริมว่า “เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่จะช่วยสร้างครูที่เปี่ยมคุณภาพผ่านสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยของเรา ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการยกกระดับสะเต็มศึกษาเพื่อขับเคลื่อนบุคลากรแห่งอนาคตเพื่อเผชิญความท้าทายระดับโลกไปพร้อมกัน”
ไม่เพียงแต่โครงการนำร่องฯ จะเน้นการพัฒนาด้านสะเต็มศึกษาเท่านั้น แต่ยัง ‘ก้าวนำ’ เทรนด์การพัฒนาครูให้สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกยุคใหม่ได้อย่างล้ำสมัย ด้าน ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)เผยทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายผ่านการพัฒนาหลักสูตรครูสะเต็มว่า “การปฏิรูปการศึกษาในวิชาชีพครูต้องมองไปข้างหน้า ก้าวข้ามการพัฒนาทักษะทั่วไป เพื่อให้พร้อมตอบสนองความต้องการของแรงงานอนาคต เราจึงยกระดับหลักสูตรการศึกษาครูระดับปริญญาตรีและโทในสาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้ทันสมัย ภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์นี้กับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม นอกจากนี้ เรายังเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองความท้าทายของสังคมดิจิทัล พร้อมพัฒนาทักษะตอบโจทย์ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างโมเดลเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อรองรับนโยบายของประเทศในการพัฒนากำลังคนที่ตอบโจทย์อนาคต”
ด้านนางสาวซามิรา คานาปิยาโนวา ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนยูเรเชียแปซิฟิกสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวเพิ่มเติมในฐานะภาคเอกชนที่มุ่งยกระดับสะเต็มศึกษาว่า “เชฟรอนมุ่งมั่นสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ผู้คนทั่วโลกให้บรรลุเป้าหมายดั่งที่ตั้งใจ เราตระหนักดีว่าสะเต็มศึกษามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม การวิจัย และเทคโนโลยี โดยการสนับสนุนโครงการพัฒนาครูในประเทศไทยมุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยคิดค้นแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อความท้าทายที่โลกเผชิญ เราภูมิใจอย่างยิ่งที่การสนับสนุนด้านสะเต็มศึกษาที่เชฟรอนทำมาอย่างต่อเนื่องเกือบหนึ่งทศวรรษ ได้นำไปสานต่อโดยรัฐบาลไทยผ่านโครงการนำร่อง หลักสูตรปริญญาร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้านสะเต็มศึกษา”
เรียกได้ว่าโครงการนำร่อง หลักสูตรปริญญาร่วมไทย-สหรัฐอเมริกา ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ด้านสะเต็มศึกษาถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างภาครัฐและภาคการศึกษาของประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายในภูมิภาคเพื่อพลิกโฉมบทใหม่ที่ท้าทายของวงการการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นโมเดลต้นแบบก้าวต่อไปที่สามารถขยายผลในประเทศอื่นๆ ภายใต้เครือข่ายของ SEAMEO STEM-ED ซึ่งรวมถึงกัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และคาซัคสถาน ผ่านโครงการ SEA-TEP อีกด้วย เพื่อเสริมแกร่งการพัฒนาบุคลากรด้านสะเต็มศึกษาตั้งแต่ต้นน้ำ สู่การพัฒนาบุคลากรคุณภาพระดับภูมิภาคต่อไป