การประกอบการที่เปลี่ยนไป

การประกอบการที่เปลี่ยนไป
คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์  สิมะโชคดี'

“การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) จะมี 4 มิติสำคัญคือ

(1) การพัฒนาเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่บริโภคทรัพยากรแบบทำลายล้าง หรือใช้ ฟุ่มเฟือยจนเกินขอบเขต

(2) การสร้างโอกาสในการพัฒนาที่เปิดกว้างอย่างเสมอภาคในทุกมิติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมทั่วโลก

(3) การพัฒนา และจัดการโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  โดยไม่มีการผูกขาด  แต่สามารถเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิต และส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรมกับสังคม

(4) การบริหารจัดการเทคโนโลยีและทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือหมุนเวียนใช้ใหม่ได้  โดยสามารถลดความสูญเสียให้มากที่สุด บนมาตรฐานและมาตรการในการอยู่ร่วมกันของสังคมโลก

ทุกวันนี้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  จึงยึดโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น ภายใต้กฎระเบียบและกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งระดับประเทศและระดับชาติ  ซึ่งรวมถึงการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในระบบการค้าโลก เป็นต้น

มาตรฐาน และข้อบังคับต่างๆ ด้าน “การพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงแทรกซึมอยู่ในระบบการค้าโลกหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการผลิตและบริการในระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศและสังคมโลกอย่างชัดเจน

ต่อแต่นี้ไป การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  จึงไม่ใช่ “ของฟรี” อีกต่อไป  แต่เป็นเรื่องที่ภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาคมโลก ต้องร่วมกันกำกับ  ควบคุมดูแล และใช้อย่างระมัดระวังตามกติกา  กฎบัตร กฎหมาย  มาตรการ  และมาตรฐานต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศที่จะส่งผ่านไปสู่กระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นปัจจุบันจะไม่มีผลกระทบต่อคนรุ่นอนาคต (คือ รุ่นเรามีหรือใช้อะไรได้ รุ่นลูกหลานก็มีและใช้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้เช่นกัน)

นี่คือ ข้อตกลงของสังคมโลกที่รับทราบกันในชื่อเรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development : SD)

เศรษฐกิจของโลกยุคใหม่จึงไม่ใช่เศรษฐกิจแบบ “กำไร - ขาดทุน” แบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกันอีกต่อไป ที่มุ่งแต่จะเอาเปรียบกลุ่มคนที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าจะด้านแรงงานราคาถูก การค้ามนุษย์  การปล่อยมลพิษที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ว่าไปแล้ว การเคลื่อนไหวของขบวนการสิ่งแวดล้อมโลกนั้นมีมานานแล้ว  แต่เริ่มจริงจังมากขึ้นหลังจากที่ท่านรองประธานาธิบดี Al Gore ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำสารคดีเรื่อง “Inconvenient Truth” เผยแพร่จนโด่งดัง  ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงหายนะจากการไม่ใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ครับผม !

 

 

 

 

TAGS: #Sustainability #วิฑูรย์  #สิมะโชคดี