สิ่งแวดล้อม กับ “อุตสาหกรรม 4.0”

สิ่งแวดล้อม กับ “อุตสาหกรรม 4.0”
คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์  สิมะโชคดี'

 

ทุกวันนี้  โครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ประชาคมโลกยอมรับนั้น เป็นเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม  ซึ่งมีมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า  รวมถึงมาตรฐานการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  โดยมีการใช้เทคโนโลยีเข้าบริหารจัดการ เพื่อลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มขีดความสามารถในระบบการผลิต ช่วยขจัดการงานที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

 

เราเริ่มเห็นผลกระทบจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) ต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยแล้ว  โดยเห็นได้จาก “มาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุน” ของประเทศผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศไทย (หากภาคธุกิจอุตสาหกรรมไทยมีการผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูง)

คือ สหภาพยุโรปกำลังนำมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามาพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM)  โดยกำหนดให้เก็บค่าใบรับรองคาร์บอนในสินค้าที่นำเข้ามาสหภาพยุโรป  โดยประเมินจากส่วนต่างของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้ากับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อนุญาตให้มีการปล่อยได้ในสินค้าแต่ละประเภท  เพื่อเป็นค่าปรับในสินค้านำเข้าที่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่า

ระยะเริ่มแรกนี้ สหภาพยุโรปจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 5 กลุ่มแรก ได้แก่ (1) เหล็กและเหล็กกล้า  (2) ซีเมนต์ (3) กระแสไฟฟ้า (4) ปุ๋ย  และ(5) อลูมิเนียม  และมีแนวโน้มจะขยายไปสู่สินค้ากลุ่มอื่นๆ อีก ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติก แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ และโพลีเมอร์ โดย CBAM เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566

ดังนั้น  หากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยไม่ปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกก็จะลดลง  ซึ่งจะส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกลดลงและ GDP ของประเทศไทยลดลงด้วย

ส่วนภาคการเงินและตลาดทุนนักลงทุน  ก็เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน โดยผ่านแนวความคิดเรื่อง “ESG” (Environment, Social, & Governance) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเติบโตควบคู่ไปกับความรับผิดชอบใน 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) สิ่งแวดล้อม  (2) สังคม  และ(3) บรรษัทภิบาล  ซึ่งเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกันพร้อมกับช่วยสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย

ดังนั้น  หากภาคธุรกิจอุตสหกรรมไทยยังไม่ปรับตัวตามแนวความคิดเรื่อง “ESG” แล้ว นักลงทุนรายใหญ่ทั่วโลกอาจเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกจากประเทศไทยในอนาคต  ซึ่งจะกระทบในเชิงลบต่อ GDP ในที่สุด

แม้ว่าการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ  แต่ผลจากงานวิจัยในอดีตพบว่า  หากได้รับการช่วยเหลือที่เพียงพอทั้งเงินทุนและองค์ความรู้พร้อมกฎหมายที่ยืดหยุ่นจากภาครัฐแล้ว  การลงทุนเพื่อปรับตัวไปสู่การผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยได้ในที่สุด

เศรษฐกิจยุคใหม่จึงเป็นเศรษฐกิจที่มีปฏิสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับฐานความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ World Economic Forum (WEF) ประกาศว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคของ “ Industry 4.0” ( ในขณะที่ประไทยเป็น “Thailand 4.0” ) ครับผม !

 

 

TAGS: #Sustainability #อุตสาหกรรม4.0 #สิ่งแวดล้อม