เมื่อความยั่งยืนคือเรื่องของเรา (ตอนที่ 1)

เมื่อความยั่งยืนคือเรื่องของเรา (ตอนที่ 1)
บทความโดย รองศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ พิมพา วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

หากวันนี้คุณลุกขึ้นมาบอกว่า “ความยั่งยืนคือเรื่องไกลตัว” หรือ “ภาวะโลกร้อนเป็นนิทานหลอกเด็ก” ผู้คนคงจะสงสัยว่าอะไรทำให้คุณคิดแบบนั้น แน่นอนครับ สักสิบกว่าปีที่ผ่านมาเคยมีคนจำนวนมากคิดแบบนั้น และ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำว่า ความยั่งยืน หรือแม้แต่การนำแนวคิดความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป ผลการศึกษาวิจัย รวมไปถึงการสังเกตความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เกิดรอบตัว เช่น อากาศที่แปลกประหลาดไป โรคระบาดแบบใหม่ หรือ การชุมนุมในเรื่องความเท่าเทียมโดยประชากรในหลายประเทศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องทำให้คุณฉุกคิดอีกครั้งหากคุณจะไม่เชื่อในแนวคิดเรื่องความยั่งยืน  เพราะเราต้องยอมรับว่าพวกเราทุกคนอยู่ในวิกฤตแล้ว

เราเริ่มได้ยินภาษาใหม่ๆ คำที่ไม่คุ้น หรือ ความคิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน หรือ ธุรกิจสีเขียวบ่อยขึ้น โดยที่เราอาจจะคิดว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องไกลตัว หลายคนเพิกเฉย ทว่า บางคนเลือกที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต และ การทำงาน เราเริ่มเห็นการตื่นรู้ในประเด็นสิ่งแวดล้อม และ สังคม ของคนรุ่นหนึ่ง และ ความเพิกเฉยของบางคนในบางรุ่น หลายคนตั้งคำถามว่าอะไรคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้จะพอได้ยินมาว่าโลกของเรามีเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการ  (Sustainable Development Goals- SDGs) แต่เราจะต้องทำอะไรกันบ้าง องค์กรต่างๆ จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน 

แท้ที่จริงแล้ว เราควรตั้งหลักจากการมองว่า เป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2015 และมีเป้าที่จะสัมฤทธิ์ผลในปี 2030 เป็นความมุ่งมั่นร่วมกันของประชาคมโลก ของเราทุกคน โดยทุกคนต้องช่วยกันที่มุ่งแก้ไข ‘กลุ่มปัญหาเร่งด่วนที่สุดของโลก’ และปัญหาเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกัน การมีเป้าประสงค์ร่วมกันทั้งโลกเป็นการกระตุ้นการดำเนินการอย่างมีพลังเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  อุณหภูมิที่ผันผวนรุนแรง ทรัพยากรที่พังพินาศ โดยมีการแก่งแย่งทรัพยากรที่มาในรูปแบบความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆเป็นตัวเร่งปฎิกริยา ปัญหาเหล่านี้พัวพันเกี่ยวโยงกันหมด องค์กรทั้งในภาครัฐ เอกชน และ ประชาสังคมต้องคิดหาวิธีการจัดการที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อโลกและทรัพยากรธรรมชาติที่เราใช้กัน ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมการประกอบการที่เป็นธรรม สร้างโอกาสให้คนที่อาจมีน้อยกว่า หยุดใช้ทรัพยากรของคนรุ่นต่อไป ส่งเสริมสังคมที่ไม่แบ่งแยก เพื่อลดความไม่เท่าเทียมและมีส่วนทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

ดังนั้นความหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในองค์รวมนั้นจึงประกอบไปด้วยเงื่อนไขหลักสองประการ คือสภาวะที่ดีและดีขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง (การพัฒนา) ตามระยะเวลาที่แปรไป (อย่างยั่งยืน) แนวคิดนี้จึงไม่ใช่ การทำดี การส่งเสริมคุณธรรมและสิ่งแวดล้อม หรือการทำการมีรับผิดชอบต่อสังคมอย่างที่หลายคนคิด แต่ต้องเป็นการนำปัญหาองค์รวมมามองแล้วหาวิธีป้องกันและแก้ไข โดยมีเป้าร่วมสิบเจ็ดประการที่แบ่งให้ดูง่ายๆ 5 กลุ่มดังนี้ ที่สำคัญเราอาจจะคุ้นชินกับผลกระทบในเชิงลบที่จะเกิดขึ้นหากเราไม่ร่วมแรงเร่งมือไปสู่เป้าประสงค์ทั้งสิบเจ็ดข้อ  แต่รายงานจาก องค์กรThe Business and Sustainable Development Commission ได้ย้ำถึงผลกระทบในเชิงบวกว่า การบรรลุเป้าหมาย SDGs จะช่วยให้เราสามารถสร้างงานได้อย่างน้อย 380 ล้านตำแหน่ง และช่วยปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจอย่างน้อย 12 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลกภายในปี 2573

เราเรียนรู้ว่าเสาหลักอันเข็มแข็งที่พยุงพวกเราในช่วงเปลี่ยนผ่าน และยังเป็นแนวทางที่เราต้องใช้ในการทำงานและใช้ชีวิตเพื่อสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้แก่  โลกของเรา คน ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือกัน และ สันติภาพอย่างยั่งยืน โดยในแต่ละประเด็นก็มีความโยงใยและต่างมีผลกระทบต่อกันและกัน    และ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือนิทานหลอกเด็กอีกต่อไป

ในฉบับหน้า เราจะเข้าไปคุยกับเนื้อหาและรายละเอียดปลีกย่อยรวมถึงผลกระทบที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนมีต่อธุรกิจปัจจุบันทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

Photo by Karim SAHIB / AFP

TAGS: #ESG #ณัฐวุฒิ #พิมพา #วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล