ใครเป็นคนทำ

ใครเป็นคนทำ
คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์  สิมะโชคดี'

ทุกวันนี้  มีผู้เสนอ “นโยบาย” “ยุทธศาสตร์” “โครงการ” หรือ “ไอเดีย” ใหม่ๆ มากมายในห้องประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ  แต่มักจะจบลงด้วยความสงสัยว่า “ใครจะเป็นคนทำ” (ใครจะรับทำ หรือ จะมอบให้ใครทำ)

“ใครเป็นคนทำ” คือ คำถามยอดฮิตในหมู่ผู้บริหาร เพราะ “ใคร” คนที่ทำจะมีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของ “โครงการใหม่”  “นวัตกรรม” และเรื่องใหม่ๆ ที่เสนอในทุกองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

“ใคร” ที่ว่านี้ ผมหมายถึง ผู้ที่ทำให้องค์กร (หน่วยงาน) บรรลุเป้าหมายในโครงการหนึ่งๆ และเรื่องต่างๆ ตามที่มีการนำเสนอ  เราจึงต้องรู้ว่าใครจะเป็นผู้ที่ลงในรายละเอียด ใครจะเขียนโครงการ ใครจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการ ใครจะเป็นผู้ที่ติดตามงาน ใครจะกำกับควบคุมงาน และอื่นๆ ที่จะต้องทำเพื่อให้งานสำเร็จ  เราจึงต้องรู้ว่าใครที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (มีความรู้ความสามารถ) เราจะได้มอบหมายงานได้ถูกคน

ในการประชุมแต่ละครั้ง  มักจะมีผู้เสนอแนะหรือให้ข้อคิดเห็นดีๆ  ยิ่งประธานที่ประชุมกระตุ้นให้กรรมการผู้ร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นด้วยแล้ว  ก็จะยิ่งมีผู้เสนอความคิดเห็นต่างๆ มากมาย (ทั้งที่ตรงประเด็นและไม่ตรงประเด็นในเรื่องที่ประชุมหารือกัน)  แต่เมื่อที่ประชุมได้อภิปรายจนได้ข้อสรุปหรือมีมติแล้ว คำถามต่อไปก็จะเกี่ยวข้องกับ “ใครจะเป็นคนทำ” และจะทำเสร็จเมื่อไหร่  เพื่อที่ประชุมจะได้ลงมติมอบหมายงานหรือสั่งการต่อไป

เรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด ก็คือ การเสนอโครงการใหม่ๆ การเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะใหม่ๆ จาก กรรมการ  (ซึ่งอาจจะเป็น “ผู้ใหญ่” ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีไม่ต่างกับประธานมากนัก) โดยมีข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ และการนำไปสู่การปฏิบัติ

 บ่อยครั้งที่ประธานไม่ได้มอบหมายกรรมการท่านใดท่านหนึ่งดำเนินการ  เพราะเห็นว่าผู้บริหาร (กรรมการ) ทุกท่านต่างก็มีงานประจำ และภารกิจมากมายอยู่แล้ว  แต่กลับมอบให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ยังไม่พร้อมเป็นผู้ดำเนินการ

ดังนั้น จึงเป็นปกติวิสัยที่ประธานมักจะเสนอให้ “ผู้เสนอโครงการ” หรือ “ผู้เสนอแนะ” เป็นผู้รับผิดชอบทำ  และหลายเรื่องที่ผู้เสนอจะต้องเป็นคนคิดคนเขียนในรายละเอียดต่อไปด้วย  ทำให้ไม่มีกรรมการท่านใดอยากเสนอแนะโครงการใหม่ๆ เพราะกลัวจะเป็นคนทำในขณะที่มีกรรมการหลายท่านรู้เรื่องดีแต่ขอนั่งนิ่งแบบเงียบเฉยดีกว่า

ทุกวันนี้  ผู้บริหารและกรรมการจึงควรทำ “การบ้าน” ก่อนเข้าประชุม คืออ่านรายงานการประชุมครั้งก่อนให้เข้าใจ และคิดพิจารณาล่วงหน้าว่า จะต้องทำอย่างไรต่อไป หรือ ควรจะให้ใครเป็นคนทำต่อ เพื่อความสำเร็จของโครงการและความเจริญก้าวหน้าขององค์กร

กรรมการและผู้บริหารจึงต้องรู้ดีว่า “ใครมีคุณสมบัติเหมาะสม” ที่จะรับผิดชอบในโครงการนั้นๆ เพราะหลักการบริหารที่ว่า “Put the right man to the right job” ยังคงใช้ได้ผลเสมอ

ทุกวันนี้  เรามักจะพบแต่ “คนพูดมากกว่าคนทำ”  ทั้งที่คนทำสำคัญที่สุด ดังนั้น เราควรเสนอเรื่องใหม่ๆ  แต่ควรจะคิดด้วยว่า “ใครจะเป็นคนทำ”  ครับผม !

 

TAGS: #Sustainability #ใครเป็นคนทำ