คอลัมน์ 'Growth and Sustainability' โดย 'วิฑูรย์ สิมะโชคดี'
สาเหตุของการระเบิดของโรงงานพลุรายนี้ สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับ “สารเคมีที่อยู่ในพลุ” ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก คือ "โพแทสเซียมไนเตรต" ที่มีคุณสมบัติให้ก๊าซออกซิเจนที่อุณหภูมิสูง ไม่ระเบิดด้วยตัวเอง ง่ายต่อการผลิต หรือบางสูตรจะใช้ "โพแทสเซียมคลอเรต" (ที่เกษตรกรใช้สำหรับเร่งต้นหรือบ่มลำไย จนเกิดกรณีระเบิดที่เชียงใหม่เมื่อ 20 ปีก่อน จนมีผู้เสียชีวิตมากมายหลายสิบคน) ซึ่งมีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ดี ระเบิดได้ด้วยตัวเองหากมีประกายไฟ
ด้วยเหตุนี้ โรงงานทำพลุ ปะทัด หรือดอกไม้ไฟ จึงจำเป็นที่จะต้องตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน
กรณีโรงงานพลุระเบิดรายนี้ แม้ผู้คนจะเรียกกันว่า “โรงงาน” แต่ความเป็นจริงแล้ว การประกอบกิจการไม่เข้าข่ายเป็น “โรงงาน” ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน (มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535) เพราะทั้งแรงม้าของเครื่องจักรและแรงงานไม่ถึงเกณฑ์เป็น “โรงงาน” ตามกฎหมาย
ขณะเกิดเหตุ การประกอบกิจการทำพลุที่ระเบิด ใช้เครื่องจักรมีกำลังเเรงม้ารวมไม่ถึง 50 แรงม้า และใช้คนงานไม่ถึง 50 คน จึงไม่เข้าข่ายเป็น “โรงงาน” ตาม พรบ. โรงงานฯ และ “โพเเททเซียมครอเลต” ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ แม้จะเป็นวัตถุอันตรายก็ตาม แต่ก็เป็นวัตถุอันตรายที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม
กรณีนี้ แม้โรงงานพลุจะไม่ได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล) ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหาวิธีการควบคุมดูแลโรงงานประเภทนี้ รวมทั้งโรงงานที่มีอันตรายสูง(โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชุมชนและสังคม) เพื่อเป็น “หลักประกันความปลอดภัย” ให้กับประชาชน
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม(นายณัฐพล รังสิตพล) จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง“คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน ระเบียบ และข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535” เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 อย่างทันเหตุการณ์ และได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ ในทันที
เรื่องของ “หลักประกันความปลอดภัย” นี้ คงต้องพูดกันอีกหลายยก ครับผม !